วันที่ 30 ก.ค.60 นายปราโมทย์ พันธ์สะอาด รองประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)
เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง โพล คะแนนนิยมของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 1,111 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 29 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 ระบุ ไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ต้องการคนที่มีความเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกงชาติบ้านเมือง ไม่เป็นตัวการก่อความขัดแย้งในหมู่ประชาชน กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บริหารจัดการความขัดแย้งของคนในชาติได้ดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ไม่ทำงานเพื่อฐานเสียงเฉพาะพื้นที่ในขณะที่ ร้อยละ 9.0 ระบุมี เพราะ ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนที่มีความรู้ความสามารถ แก้ปัญหาปากท้องได้ดี มีนโยบายประชานิยม เข้าถึงประชาชนได้ดีและ ร้อยละ 12.6 ไม่มีความเห็น
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อจำแนกออกตามเพศของผู้ตอบ พบว่า ทั้งเพศชายและหญิงมีความเห็นไม่แตกต่างกัน คือ ชายร้อยละ 78.8 และ หญิงร้อยละ 77.9 ระบุไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามอายุ พบว่า กลุ่มเยาวชนที่ระบุไม่มีใครที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ คือร้อยละ 73.5 ต่อ ร้อยละ 79.6 ในขณะที่ กลุ่มเยาวชนที่ระบุมีคนเหมาะสมมากกว่ามีอยู่ร้อยละ 12.6 ต่อกลุ่มผู้ใหญ่ร้อยละ 8.1 นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐมีสัดส่วนของคนที่ระบุว่า ไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น้อยที่สุด คือร้อยละ 77.2 และร้อยละ 77.5 ในขณะที่ กลุ่มคนรับจ้างทั่วไป เกษตรกร และเกษียณอายุ เป็นกลุ่มคนที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ระบุ ไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือร้อยละ 86.3 และร้อยละ 85.9 ในขณะที่กลุ่มค้าขายและธุรกิจส่วนตัว มีอยู่ร้อยละ 80.6 ที่ระบุไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐควรเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ที่ควรจะนำยุทธศาสตร์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและฐานสนับสนุนจากสาธารณชนเฉพาะกลุ่มมาใช้ให้เกิดผล เพราะ กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนของชาติมีการรับรู้และความต้องการเฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะกลายเป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อนเชิงอำนาจที่ต้องการบริหารจัดการที่แยบยลกว่าเพราะมีเรื่องอำนาจ มีเรื่องผลประโยชน์และอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะวิจัยเสนอให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนแบบแยกกลุ่ม ให้สอดคล้องกับลักษณะของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น ภาษาที่ใช้ กิจกรรมที่เข้าถึง ความต้องการและพื้นที่เป้าหมายต่างๆ เพื่อทำให้การสนับสนุนและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะได้ดีมีพลังมากขึ้น” นายปราโมทย์กล่าว
ทีมข่าววิหคนิวส์ รายงาน