“อลงกรณ์”เดินหน้าโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หารือเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์นแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงนิเวศแบบครบวงจร
วันนี้ (15 มี.ค. 64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) พร้อมด้วย นายไพฑูรย์ โกเมนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดชลบุรี นายณัฏฐ์ธน สาตรจีนพงษ์
รองประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี นายไพชยนต์ กังวลกิจ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี ตัวแทนหน่วยงานราชการและภาคเกษตรกร เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ กลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยมี คุณเฉลิม โกกนุทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น คุณถิรวัฒน์ เธียรธนะรัตน์ ผู้จัดการทั่วไปเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไทยอีสเทิร์น และคณะให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน และนำเยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัทซึ่งเป็นผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงนิเวศแบบครบวงจร ที่ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต อาศัยหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและพัฒนาองค์กรให้เติบโตไปพร้อมกับชุมชน พร้อมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างสมดุล
ทาง บริษัทฯมีการดำเนินงานใน
5 กลุ่มธุรกิจ 1. ธุรกิจยางพารา โดยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแท่งเกรดพิเศษ และเป็นผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก 2.ธุรกิจปาล์มน้ำมันในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบและเป็นโรงงานสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นำเศษของเหลือทะลายปาล์ม แปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ
3. ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทน LPG ในกระบวนการอบยางแท่งได้ถึงร้อยละน 85 และสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้อีกกว่า 4 เมกกะวัตต์ และรับกำจัดกากอินทรีย์เหลือใช้ รับบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย บริการกำจัดกากของเสียอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยแบคทีเรีย 4.ธุรกิจโลจิสติกส์
5.ธุรกิจร่วมทุน โดยพร้อมสนับสนุนโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและกษตรแม่นยำ2ล้านไร่ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) กล่าวถึงการบริหารจัดการของเหลือ Zero Waste การลงทุน ด้านนวัตกรรม ผ่านInnovation Catalog ซึ่งเป็นการต่อยอด และเชื่อมโยงการดำเนินงานตามนโยบาย เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรแบบยั่งยืน เน้นเพิ่มศักยภาพด้านแปรรูป ผลิตทดแทนการนำเข้า ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ศูนย์ AIC ร่วมด้วยคณะอนุกรรมการกรกอ. 5 ภาค เพื่อขับเคลื่อน โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรการเกษตรอาหาร
สำหรับจังหวัดชลบุรี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีมูลค่าภาคการเกษตรกว่า 19,730 ล้านบาท โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ข้าวนาปี และสับปะรดโรงงาน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมกันกว่า 6.89 แสนไร่ ผลผลิตภายในจังหวัดรวมกันกว่า 2.2 ล้านตันต่อปี