ข่าวประจำวัน » พยานมัดชั้น 14 !! คำให้การระบุชัดไม่ได้ป่วยหนัก แถมข้องใจอยู่ ICU ได้ไหง?

พยานมัดชั้น 14 !! คำให้การระบุชัดไม่ได้ป่วยหนัก แถมข้องใจอยู่ ICU ได้ไหง?

20 December 2024
71   0

politics 058

“…ณ ตอนนั้นเท่าที่ทราบ วันนั้นไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรในช่วงเวลาขณะนั้น ช่วงที่เขาเข้าไปตรวจก็คือเป็นการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซักถามประวัติ อาการเบื้องต้นแล้วก็ Review ประวัติเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเท่าที่ผมทราบ แพทย์ที่เข้าไปตรวจเขาได้เขียนในใบบันทึกการแพทย์ เป็นรายละเอียดโรคประจำตัวทิ้งไว้ ไม่ใช่เป็นลักษณะที่ว่าป่วยเป็นอะไรฉุกเฉินชัดเจน…”


จากกรณีกรมราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเป็นนักโทษเด็ดขาด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 และมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติรับเรื่องพร้อมกับตั้งองค์คณะไต่สวนเต็มคณะ ข้าราชการระดับสูงของกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 12 ราย  

อ่านประกอบ :

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำรายงานการบันทึกชวเลขการการให้ข้อมูลของ 3 ใน 12 ราย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน โดยได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 และครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 กรณีเรื่องร้องเรียนของนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เชิญตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจมาชี้แจง ได้แก่ พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ นายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร และนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้น มาให้สอบถามข้อมูลต่อกมธ.ตำรวจ

ต่อจากนี้ คือ รายงานการประชุมที่เป็นบันทึกชวเลขในการประชุมคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่มีการซักถาม-ตอบชี้แจงของกรรมาธิการกับตัวแทนของกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ คือ นายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ และนายพงศ์ภัค อารียาภินันท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

@ แจงไทม์ไลน์รับตัว-ซักประวัติสุขภาพ

นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม กรรมาธิการฯ : ประเด็นแรก หน่วยงานมีขั้นตอนในการรับนักโทษอย่างไร ระเบียบราชการได้มีการส่งนักโทษมีกี่โรงพยาบาลที่มีการรับนักโทษไปรักษา รวมถึงนักโทษโดยปกติแล้วมีการรักษาขั้นตอนในการนำเข้า ขั้นตอนเข้าไปในกระบวนการอย่างไร

อีกอันหนึ่งสืบเนื่องจากระเบียบใหม่ออกมาใหม่ว่า ระเบียบที่มีการอ้างว่าตั้งแต่ปี 2563 ใช้เวลา 3 ปี ถามว่าจนระเบียบออกมามีกระบวนการอะไรที่ทำให้ต้องมาออกในช่วงเวลานี้ กระบวนการที่ผ่านมาติดอยู่ตรงไหน หรืออะไรที่ทำให้ระเบียบถึงได้ต้องมาออกในช่วงเวลาตอนนี้ รวมถึงการรับโทษที่บอกว่าระเบียบใหม่ที่ออกมารับโทษ 1 ใน 3 อยากจะถามว่าในท้ายที่สุดแล้วจะครบกำหนดของนายทักษิณประมาณวันที่ 20 ธันวาคม หลังจากนั้นนายทักษิณจะเข้าเกณฑ์พักโทษเลยหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดที่มีระเบียบใหม่เกิดขึ้น เกณฑ์ในการพิจารณาเป็นอย่างไร คณะกรรมการสัดส่วนเป็นอย่างไร

นายชัยชนะ เดชเดโช ประธานกมธ.ฯ : ทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขั้นตอนในการรับนายทักษิณเข้าสู่การเป็นนักโทษ มีกระบวนการรับอย่างไร 1. ทำไมมาถึงวันนี้ นายทักษิณถึงยังไม่มีการตัดผมแม้แต่เส้นเดียว 2. โดยธรรมเนียมปฏิบัติจากสถานการณ์โควิดต้องมีการกักตัวนักโทษ 10 วัน แต่นายทักษิณไม่ได้รับการกักแล้วส่งตัวโรงพยาบาลเลย 3. เหตุผลใดที่ต้องเลือกส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ ถ้าเป็น นช. อื่นมีพฤติกรรมการป่วยแบบนี้จะได้รับการดูแลแบบนี้หรือไม่

นายนัสที ทองประหลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร : ขออนุญาตชี้แจงเรื่องการรับตัวโดยเป็นการทั่วไปก่อน ปกติเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจะรับตัวผู้ต้องขัง เขาเรียกผู้ต้องขังเป็นโดยรวม รวมทั้งเด็ดขาด ระหว่าง หรือการฝากต่าง ๆ ของตำรวจก็จะเหมือนกันใช้คำว่า ผู้ต้องขัง เราจะรับเมื่อมีหมายศาล

โดยปกติเราก็ต้องมีหมายศาล เช่น ในกรณีเคสของนายทักษิณ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไว้แล้ว แล้วก็ยืนยันตัวบุคคล ออกหมายเพื่อจำคุกเรือนจำก็รับตัวจากศาลเป็นขั้นตอนแรก ก็คือมีการตรวจสอบ โดยตรวจสอบ โดยพิมพ์นิ้วมือ เมื่อถูกต้องตรงกับที่พนักงานสอบสวนได้ยืนยันกับศาล เจ้าหน้าที่โดยทางศาลของเราที่มีประจำอยู่ทุกศาลก็จะรับตัวเมื่อมีหมาย

พอยืนยันถูกต้องก็นำตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลา 11.30 นาฬิกา รับตัวจากศาลฎีกา และเมื่อนำเข้าถึงเรือนจำในกระบวนการรับตัวจะต้องเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติงาน เรียก SOP ในการรับตัวผู้ต้องขังทุกคนจะเหมือนกันหมดเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงาน

ช่วงแรกก็ต้องมีการตรวจสอบอีก ในกลางวันเขาเรียกทางส่วนควบคุม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมก็อยู่นี่ ในกลางวันเป็นเวลาทำงานตามปกติ ทางส่วนควบคุมโดยฝ่ายควบคุมก็จะยืนยันตัวอีกครั้งหนึ่งจากการรับตัวจากศาลว่าคนละส่วน พอมาถึงก็จะมีการพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบ รีเช็กกันอีกทีว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่ศาลออกหมายหรือไม่ เช็กที่ศาล เช็กที่เรือนจำตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ พอเห็นว่าถูกต้องเป็นคน ๆ เดียวกันก็รับตัว รับตัวก็เข้าสู่มาตรฐานการรับตัวก็คือตรวจสอบประวัติก็จะมีการลงรับประวัติ ทั้งสอบถามเรื่องคดี รีเช็กต่าง ๆ เขาเรียก รท. 101 ก็จะมีการตรวจสอบประวัติแล้วก็จะมีการตรวจร่างกาย

ทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกาย ถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ถ้าไม่ทำก็คือไม่ถูกต้อง และในข้อมูลนั้นก็จะมีการลงเข้าสู่ระบบ เขาเรียก 17 ระบบบของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ลิงก์กับกรม ทุกเรือนจำทั่วประเทศจะมีระบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้อง Report กันขึ้นไปรวมกันที่กรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการนั้น แล้วก็มีการซักประวัติเรื่องโรค แพทย์ พยาบาล ก็จะตรวจซักถามความเป็นไป สุขภาพร่างกายเพื่อในการแยกปฏิบัติ ทั้งเรื่องโรคระบาดด้วย เพราะว่าปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศก็ยังมีระบบการกักตัวเนื่องจากโรคโควิดด้วย ณ วันนี้ก็ยังใช้อยู่ ยังมีการกักตัว 5 วัน 10 วันก็ยังใช้อยู่

“เพราะฉะนั้น ในวันดังกล่าวท่านอดีตนายกทักษิณก็จะถูกตรวจสอบประวัติ โดยทีมแพทย์และทีมพยาบาลของเรือนจำก็จะซักประวัติ ทั้งดูประวัติโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และตรวจชีพจร ตรวจอะไรต่าง ๆ ตามวิถีของแพทย์ แล้วแพทย์ก็จะมีข้อแนะนำในการปฏิบัติ ให้พยาบาลเรือนจำได้ปฏิบัติต่อไป”

@ เคสอันตรายต่อชีวิตไปโรงพยาบาลที่มีเอ็มโอยู

ขอเรียนว่า ด้วยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีสถานพยาบาลอยู่ในเรือนจำ แต่เป็นในระดับปฐมภูมิ ไม่มีแพทย์ประจำ ปกติแพทย์จะมาจากทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ห่างกันสัก 500 เมตร แพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็จะเข้ามาทุกวันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลแม่ข่ายของเราคือ ทัณฑสถาน โรงพยาบาลจะส่งแพทย์เข้ามาตรวจทุกวัน เป็นแพทย์อายุรกรรม เป็นแพทย์เฉพาะทาง เป็นแพทย์จิตเวช เป็นแพทย์ทันตกรรมต่าง ๆ จะมาทุกวัน เพราะของเราไม่มีแพทย์ประจำ เรามีแต่นักจิตวิทยา เรามีแต่พยาบาลเทคนิค พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเฉพาะทาง เรามีเภสัชกร เราเป็นแค่โรงพยาบาลปฐมภูมิเท่านั้นเอง

“ในวันดังกล่าวทางคุณหมอและแพทย์ที่เข้ามาตรวจก็ได้มีข้อแนะนำต่าง ๆ ไว้ให้เรือนจำได้ปฏิบัติและตรวจทุกคน ในการตรวจใครเข้าใหม่ทุกคนตรวจหมด แต่โดยปกติการเข้าของเรือนจำส่วนใหญ่จะเป็นเวลาค่ำ ตั้งแต่ทุ่ม 2-4 ทุ่ม แล้วแต่ศาลจะพิจารณาออกหมายต่าง ๆ แต่เคสท่านอดีตนายกทักษิณเป็นเคสที่เสร็จภารกิจและมีหมายที่ศาลประมาณ 11.30 นาฬิกา เพราะฉะนั้นในวันดังกล่าวตอนเข้าจะมีจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง ตรวจเสร็จในระบบเรียกมาตรฐานการปฏิบัติของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร”

ในชั้นต้นถ้าเป็นการทั่วไปจะมีระบบกักโรค ในช่วงนี้เราจะใช้การกักโรค แยกห้องไว้ 5 วันก่อน แล้วมีระบบ Safety อีกทีหนึ่ง หลังจาก 5 วัน ตรวจแล้วยังไม่มีเชื้อโควิดเราจะกักไว้ในแดนเดียวกัน แต่อีกห้องหนึ่งอีก 5 วัน ก็รวมถึง 10 วัน แต่ถ้าตรวจ ATK พบว่าเป็นเชื้อบวกเราจะเริ่มต้นสตาร์ทหนึ่งใหม่ นี่คือระบบปกติเรื่องการกักโรค เมื่อผ่านระบบการกักโรคแล้ว เราจะเข้าคณะกรรมการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังเพื่อแยกไปอยู่ในแดนที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังแต่ละชนิดแต่ละประเภท นี่คือระบบทั่วไป

“ทีนี้เคสของท่านอดีตนายกทักษิณในความเห็นของแพทย์ เนื่องจากในประวัติและการตรวจแพทย์ได้มีข้อแนะนำว่า พยาบาลเรือนจำจะต้องระมัดระวังและมีการตรวจสอบ เนื่องจากในประวัติและในการตรวจ ทั้งชีพจรทั้งอะไรต่าง ๆ เขาให้ระมัดระวัง พยาบาลเรือนจำเมื่อได้รับคำแนะนำนั้นทางสถานพยาบาลก็จะมีแพทย์เวรต่าง ๆ คอยดูแลตามระบบที่แพทย์ได้สั่งการไว้ แพทย์สั่งการอย่างไรต่อทุกรายก็เหมือนกันหมด ถ้าเรียบร้อยผ่านกระบวนการการกักตัวก่อนเข้าแดน คือเขาจะมีพื้นที่เฝ้าเพื่อดูอาการก่อน ก่อนจะแยกเข้าแดนกัก ทุกรายไม่ใช่ว่าพอมาถึงปั๊บเข้าแดนกักทันที จะต้องเฝ้าดูอาการก่อน พอเห็นว่าปลอดภัยเขาจะส่งเข้าแดนกัก เพราะฉะนั้นเคสนี้การรับตัวในช่วงนี้เป็นดังที่ผมเรียน นี่เป็นมาตรฐานต่อการปฏิบัติโดยทั่วไป”

ขอยาวถึงขั้นออกโรงพยาบาลเลยจะได้ต่อเนื่อง พยาบาลก็มีการตรวจวัดชีพจร ปกติช่วงนี้เราจะตรวจหลายตัว เช่น ตรวจออกซิเจนแชท ตรวจอะไรต่าง ๆ พยาบาลก็จะตรวจเป็นวงรอบของการตรวจ เรือนจำเวลาราชการปกติจะมีชุดหนึ่งในการทำงาน เขาเรียกผู้อำนวยการส่วนควบคุมกับฝ่ายควบคุมก็จะเป็นคนดูแล เรื่องอำนาจนั้น พอ 4 โมงครึ่งจะเปลี่ยนชุดทั้งหมด พอ 4 โมงครึ่งอำนาจจะไปอยู่ที่พัศดี จากฝ่ายควบคุมส่วนควบคุมมันจะถูกเท มันเหมือนพนักงานสอบสวนพอหมดเวลา 4 โมงครึ่งจะมีอีกชุดหนึ่งเข้าไปทำหน้าที่แทนเป็นชุดเวรเขาเรียกพัศดี พัศดีนี่เป็นข้าราชการระดับต่ำกว่า ชพ. นิดหนึ่งครับ ถ้าเป็นผู้อำนวยการส่วนเขาจะเป็นระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป พอเข้าสู่พัศดีเขาจะมีผู้ช่วยพัศดี มีเจ้าหน้าที่และเวร พยาบาลก็จะสับเปลี่ยนคนเปลี่ยนกันทั้งชุดเลย

เข้าไปในเรือนจำมีผู้ต้องขัง 3,800 กว่าคน เราจะมีเจ้าหน้าที่เข้าเวรประมาณคืนละ 38 คน ตั้งแต่พัศดี ผู้ช่วยพัศดี หัวหน้าเวร และลูกเวรประจำแดน เรามีอยู่ 8 แดนก็จะมีเจ้าหน้าหน้าที่เข้าประจำแดน พยาบาลก็เปลี่ยน พอเปลี่ยนเขาก็จะมาดู Chart ว่าวันนี้มีใครที่ต้องเฝ้าระวังในเชิงการควบคุมบ้าง หรือในเชิงการรักษาพยาบาล พยาบาลก็จะมาดู Chart ว่าคุณหมอสั่งอะไรไว้บ้าง เขาก็จะทำตามนั้นแล้วก็จดบันทึก พอจดบันทึกเขาก็จะตรวจตามวงรอบ พอเขาตรวจวงรอบปั๊บ โดยปกติเราปฏิบัติโดยทั่วไปเช่นเดียวกันทุกคน

เมื่อมีการเจ็บป่วยพยาบาลเรือนจำต้องรายงานต่อพัศดี เขาเรียกว่าพัศดีเวร คือ ผู้มีอำนาจแทนผู้บัญชาการเลย ท่านผู้บัญชาการก็ไม่ได้ไปไหนก็อยู่ในรัศมีในการทำงาน แต่ระบบมันเป็นอย่างนั้น มันเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เขาจะต้องมีการเวรตรงนั้น พยาบาลก็รายงานว่าด้วยศัพท์ทางการแพทย์ ว่าโน่นนี่ เมื่อมีการเจ็บป่วยเขาก็จะ Consult ปรึกษาหารือ เขาเรียกแพทย์ผู้ดูแลหรือแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์แม่ข่าย

โดยปกติเราจะมีระบบซึ่งเขาเรียกติดต่อทาง Telemed หรืออะไรต่าง ๆ เวลามีการเจ็บป่วยเคสที่เขาดู เขาก็จะหารือไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายเรือนจำเป็นหน่วยบังคับใช้ทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบมันจะมีแนวทางในการปฏิบัติเลย ถ้าผู้ต้องขังเจ็บหรือป่วยต้องทำอย่างไร เราไปลัดขั้นตอนหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานนั้นคือผิดเลยนะครับ

พยาบาลก็ได้รับรายงานพัศดีว่ามีการเจ็บป่วยอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเขาก็ปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้ดูแลรักษาว่าความมีความเห็นอย่างไร แพทย์ผู้ดูแลรักษาในเคสดังกล่าวนี้ก็มีความเห็นว่าเนื่องจากโน่นนี่ อันนี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ว่ามีความจำเป็นจะต้อง Refer แพทย์เขาจะออกใบ Refer ให้ด้วยเหตุทางการแพทย์ด้วยโน่นนี่ต่าง ๆ ก็จะ Refer มันเป็นปกติ

ถ้าเป็นเคสในกรณีปกติเราจะไปโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ถ้าเคสที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายต่าง ๆ ของผู้ต้องขังก็เป็นปกติที่เราจะต้องส่งไปข้างนอกหรือเป็นโรงพยาบาล เขาเรียกโรงพยาบาลที่มี MOU หรือเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งทุกวันนี้เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยออกโรงพยาบาลไม่น้อยกว่าวันละ 20 ราย อย่างข้อมูลที่เรามีในการเจ็บป่วยที่เราส่งออกก็เป็นพันราย แล้วค้างอีกเป็นจำนวนมาก

พอหมอส่งมีใบ Refer ปั๊บเราก็จะจัดกำลังจัดชุดเจ้าหน้าที่ควบคุมส่งไปยังโรงพยาบาลที่หมอ Refer ไป เพราะฉะนั้นในการเลือกโรงพยาบาลหรืออะไรต่าง ๆ ทางแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องส่งไปที่ไหน อย่างไร เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็จะมีสมรรถนะขีดความสามารถ หรือคุณหมอหรือเครื่องมือต่าง ๆ มันมีระดับของโรงพยาบาลอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์มีใบ Refer ไปเราก็จะนำตัวไปส่งโดยจัดกำลังอย่างที่ท่านกรรมาธิการได้สอบถามว่า โดยปกติผู้ต้องขัง 1 คนเราใช้กำลัง 2 คน แล้วก็สลับปรับเปลี่ยนเวรกันเฝ้าชุดละ 2 คน

โดยหลักปฏิบัติเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและเรือนจำทั่วประเทศก็จะแจ้งไปยังตำรวจพื้นที่ว่า เรามีผู้ต้องขังออกไปโน่นนี่ ก็ขอจัดกำลังมาแล้วเราก็ตั้งเป็นผู้คุมพิเศษก็ทำหน้าที่เหมือนผู้คุมก็จะจัดกำลังกันเป็นคู่เป็นชุด นี่คือกระบวนการที่เป็นมาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมายเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งผู้สั่งถ้าไม่มีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้เขาจะไม่สามารถสั่ง แล้วหน่วยปฏิบัติก็จะไม่ปฏิบัติตาม

@ “ไม่เอาอนาคตผู้บัญชาการไปแลก”

“เจ้าหน้าที่เวรถ้าคุมแล้วผู้ต้องขังหลบหนี คือ ไล่ออกอย่างเดียว ในชีวิตผมมีผู้ต้องขังหลบหนีไปไล่ออกอย่างเดียว ผู้คุมที่นครก็ออกไป 3 คน และในกระบวนการเฝ้าเราจะมีเจ้าหน้าที่คุม 24 ชั่วโมง มีระบบ Report ที่เป็นเอกสาร เป็น Application line ซึ่งผมต้องรับรู้รายงานทุกชั่วโมง การกินการอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องถ่ายภาพให้ผมเห็นทุกชั่วโมง ในทุกสัปดาห์ผมจะไปสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เวรตรวจระดับผู้อำนวยการส่วนจะต้องไปทุกวัน ไปดูให้เห็นแล้วก็บันทึกทั้งภาพต่าง ๆ ไว้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งถ้าเขาพลาด ไม่ได้อยู่จริง พวกนี้คือไล่ออกอย่างเดียว เพราะฉะนั้นในกระบวนการนี้แม้กระทั่งตำรวจในฐานะผู้คุมพิเศษที่ได้รับความกรุณาจากทางตำรวจพื้นที่ที่ผมขอความร่วมมือไปก็เป็นผู้คุม ซึ่งโทษก็น่าจะหนักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมมั่นใจและกล้าเรียนท่านครับว่า ผมไม่เอาอนาคตของผู้บัญชาการ ผมทำงานมา 30 กว่าปี ไม่เอาไปแลกกับอะไร ไม่มีอะไรที่สามารถทำให้ผมทำผิดกฎหมายได้แน่นอน”

ทางเวรตรวจก็ต้องไป เวรที่อยู่โทษไล่ออกอย่างเดียว แล้วก็ดำเนินคดีอาญาด้วย เพราะฉะนั้นผมเรียนยืนยันต่อท่านประธาน ท่านกรรมาธิการว่า อยู่แล้วไม่มีทางออกไปไหนได้แน่นอน แล้วในการปฏิบัติเมื่อการอยู่เรือนจำกับโรงพยาบาลเป็นการร่วมมือกันในการรักษาพยาบาลเป็นทางของโรงพยาบาล แต่ในการควบคุมเป็นเรื่องความรับผิดชอบของราชทัณฑ์และเรือนจำโดยแท้ในการเยี่ยม ทนายพบหรืออะไรต่าง ๆ มีหลักฐานทั้งหมด มีเอกสาร เป็นกระบวนการที่สามารถยืนยันตรวจสอบได้ และในกรณีอย่างนี้ทาง ป.ป.ช. ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้เข้ามาสอบและได้เข้าไปดูพื้นที่ด้วยแล้ว 

เรื่องตัดผม โดยปกติกับทุกคนเลยในการปฏิบัติเราจะตัดผมต่อเมื่อผ่านกระบวนการกักโรคไว้แล้ว เนื่องจากในช่วงที่มีโควิดในการที่เข้าไปชิดหรืออะไรต่าง ๆ เราจะไม่ทำในช่วงต้น พอเรากักตัวเสร็จ 5 วัน 10 วัน พอผ่านแล้วเราถึงจะตัด เพราะมิฉะนั้นจะเกิดการแพร่ระบาดของโรค อันนี้เป็นหลักปฏิบัติต่อทุกคน โดยปกติเมื่อผู้ต้องขังใหม่เวลาเข้าเรือนจำเราจะเข้าผ่านกระบวนการกักตัวก่อน กักโรค 5 วัน เข้า Buffer แล้วก็ตรวจ ATK เมื่อไม่มีผลบวกจึงจะตัดผม

ดังนั้นเคสของท่านทักษิณเนื่องจากพอมีการเจ็บป่วยและส่งไปโรงพยาบาลเราไม่ไปตัดที่โรงพยาบาล แน่นอนต่อทุกคนด้วย ผู้ต้องขังที่จะส่งออกไปข้างนอกไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรืออะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นประเด็นการตัดผมเราจะเอาต่อเมื่อกลับเข้ามาสู่เรือนจำแล้วและมากักตัวอีกครั้งหนึ่งจึงจะตัดผม”

“เรื่องการกักตัวเนื่องจากพอผู้ต้องขังเข้าใหม่ พอรอดูอาการทุกคนก่อนเข้าแดน คือ ตอนเย็น ตอนเย็นจะเป็นการเข้าแดน แต่ถ้ามีอาการที่ต้องตรวจ เขาจะอยู่ที่แดน 7 แดน 7 คือ แดนสถานพยาบาลของเรือนจำซึ่งมีการเฝ้าดูอาการ พอดูอาการเสร็จ ไม่เป็นอันตรายถึงจะส่งเข้าแดนกัก อันนี้คือขั้นตอนมาตรฐานตามปกติของเรือนจำ แต่เนื่องจากมีอาการป่วยต้องมีการส่งต่อจึงไม่ได้เข้าแดนกัก อันนี้เรื่องการกักตัว”

การที่จะส่งเข้าแดน เรือนจำจะควบคุมเป็นแดนพิเศษกรุงเทพฯ มีอยู่ 8 แดน พอเข้าไปในจุดรับตัวจะอยู่ที่แดน 7 ทุกคน และก่อนที่จะส่งเข้าไปยังแดน 2 ซึ่งเป็นแดนกักโรค ผู้ต้องขังทุกคนจะมีพื้นที่ในการเฝ้าและจะเข้าพร้อมกันในตอนช่วงปกติก็คือตอนเย็น ๆ ตอนเย็น ๆ รถจากศาลมาก็จะมีการเช็ค ถ้ามากเจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าไปแดนทีละชุด ๆ เพราะวันหนึ่งโดยเฉลี่ยเรามีคนใหม่เข้าประมาณ 30 คน ทุกคดี ทุกคดีจะมีประมาณ 30 คน

ดังนั้น การที่ยังไม่ส่งเข้าแดนกลาง เพราะว่าอยู่ในช่วงคอยเฝ้าระวัง เพราะสถานพยาบาลแดน 7 เสร็จจะมีพยาบาลประจำพอมีเข้าเวรจะมีพยาบาลประจำอยู่คนเดียว ถ้ากลางวันจะมีสัก 5-6 คน จะอยู่กระจายไปตามแดนทำหน้าที่กันไป เพราะฉะนั้นเมื่อทางแพทย์มีความเห็นว่าต้องคอยเฝ้าดูเขาจึงต้องเขามีจุดที่เฝ้าคอยตรวจเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของแดน 7 ก็จะตรวจและ Report ไปยังพัศดีผู้มีอำนาจ และเมื่อแพทย์มีความเห็นอย่างไร

โดยปกติทุกเคสเราส่งออกหมดทุกวัน กลางคืน แล้วก็ออกทุกวัน เราจะมีรถ เขาเรียกว่ารถฉุกเฉินอยู่หน้าประจำเรือนจำทุกวัน พอกลางวันเขาอาจจะจอดประจำโรงหรือไปฏิบัติภารกิจเพราะเวลา 16.30 นาฬิกา เนื่องจากเราต้องระมัดระวังผู้ต้องขัง เพราะกลางคืนมีการเจ็บป่วยกันทั้งคืน เราจะเอารถฉุกเฉินมาจอดไว้ Standby หน้าประตูเลยทุกวัน ทำมานาน รถพร้อมคนขับรถ พร้อมพยาบาลก็จะอยู่ในจุดที่พร้อมที่จะออก เพราะฉะนั้นเมื่อมีการสั่ง Refer โดยแพทย์พัศดีก็จะสั่งจัดพยาบาล จัดชุดควบคุมออกไปโดยเป็นปกติทุกวันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุทำไมถึงไม่เข้าแดนกัก

@ คลี่ปม ส่งตัว ด่วน

นายพงศ์ภัค อารียาภินันท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการผู้อำนวยการทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ : วันนั้นเหตุการณ์ก็คือว่า อย่างที่ท่านผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ท่านเรียนให้ท่านทราบว่ามีการให้แพทย์เข้าไปตรวจร่างกายนายทักษิณ ตอนช่วงแรกรับ ซึ่งตอนนั้นแพทย์ก็ได้เห็นข้อมูลโรคประจำตัวอดีตที่ผ่านมา มีโรคประจำตัวหลัก ๆ ก็คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ว่าท่านก็รักษาทานยาตลอด แล้วก็โรคความดันโลหิตสูง โรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งประวัติการรักษาจากทั้งต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศค่อนข้างจะละเอียด การรักษามีการติดตามต่อเนื่องมาตลอด

“วันนั้นเท่าที่ผมทราบก็คือว่า แพทย์ที่เข้าไปตรวจเขาก็ได้ให้คำแนะนำกับทางเจ้าหน้าที่ไว้ว่าคุณทักษิณมีโรคประจำตัว ก็อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเปราะบาง เขาก็เลยให้ลักษณะคอยระมัดระวัง คอยเฝ้าระวัง แต่ ณ ตอนนั้นเท่าที่ทราบ วันนั้นไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรในช่วงเวลาขณะนั้น ช่วงที่เขาเข้าไปตรวจก็คือเป็นการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซักถามประวัติ อาการเบื้องต้นแล้วก็ Review ประวัติเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเท่าที่ผมทราบแพทย์ที่เข้าไปตรวจเขาได้เขียนในเรียกว่าใบบันทึกการแพทย์เป็นรายละเอียดโรคประจำตัวทิ้งไว้ ไม่ใช่เป็นลักษณะที่ว่าป่วยเป็นอะไรฉุกเฉินชัดเจน ณ ตอนนั้น คือ บันทึกอาการแต่ละโรคเพื่อในกรณีที่ว่าท่านมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้เป็นการส่งข้อมูลให้กับแพทย์ปลายทาง แต่ในใบตรงนั้นจะเรียกว่าใบ Refer หรือไม่ ผมก็คิดว่าเป็นใบที่บันทึกข้อมูลเฉย ๆ”

pic071

ส่วนเหตุการณ์ตอนช่วงที่ว่ากลางคืนที่มีอาการฉุกเฉินขึ้นมา เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลที่สถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โทรมาปรึกษากับแพทย์เวรและแพทย์ที่เคยเข้าไปตรวจ ณ เวลานั้น ซึ่งเขาก็คงจะให้คำแนะนำว่าทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์เครื่องมือมี แพทย์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ว่าอาจจะวินิจฉัยอาการอะไรเบื้องต้นได้แน่ แต่กรณีที่ว่าอาจจะต้องรักษาในทางเชิงลึก หรือมากกว่านั้นศักยภาพเราก็มีจำกัดอยู่ประมาณนี้ เราก็ให้คำแนะนำไป ซึ่งคำแนะนำก็ได้ให้กับเจ้าหน้าที่สถานพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลก็คงจะต้องไปเรียนแจ้งกับท่านผู้บัญชาการเรือนกลางอีกที หรือว่าพัศดีอีกทีว่ามีความจำเป็นอย่างไร หรืออะไร อย่างไรที่ปัจจุบันอาการเป็นอย่างไร เพราะว่า ณ ตอนนั้นนายทักษิณไม่ได้ถูกส่งมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็เลยได้ทราบข้อมูลที่เขารายงานมาและเป็นคำแนะนำว่าศักยภาพของเรามีเท่าไร ศักยภาพของโรงพยาบาลตำรวจอาจจะเยอะกว่าตอนนี้ก็ให้ขึ้นกับวิจารณญาณของทางพัศดีเวรว่าตัดสินใจว่าอย่างไร

@ ซัก ข้อกังขา ชั้น 14

นายณัฐพงษ์ สุขมโนธรรม กรรมาธิการ : คำถามต่อเนื่องจากเรื่องโรงพยาบาลตำรวจที่บอกว่า มี 644 ราย อันนี้อยากจะสอบถามว่า แล้วกรณีที่ได้แอดมิด โดยปกติแล้วนักโทษที่ได้แอดมิดและไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ไปพักรักษาตัวอยู่ที่ไหนเป็นห้องพิเศษ ชั้น 14 เหมือนกันหรือไม่

พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ นายแพทย์ สบ.7 โรงพยาบาลตำรวจ : ต้องบอกว่าผู้ป่วยที่มาอยู่โรงพยาบาลตำรวจอยู่ที่ไหนถ้ามาจากทัณฑสถาน ราชทัณฑ์ คือ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คือ ผมเข้าใจว่าตอนที่มาตอนนั้น ในวันนั้น ตอนกลางคืนมีความผิดปกติจริงควรจะใช้ ICU ตอนนั้นที่เขารายงาน แต่ว่า ICU ของโรงพยาบาลตำรวจเต็มตลอดต้องเข้าใจ ประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไปอยู่ตรงนั้นเป็นวอร์ดโควิดเก่าและมีเครื่องมือพอสมควร ต้องอยู่สถานที่ เพราะฉะนั้นอยู่ที่สถานการณ์ว่าผู้ป่วยแต่ละคนเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะเอากรณีของทุกคนมาเปรียบเทียบกันอาจจะไม่ได้ เพราะว่าตอนนั้นมีรายงานอย่างนั้น

pic072

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถาม-คำตอบในห้องคณะกรรมาธิการตำรวจ โปรดติดตามตอนต่อไป