.
สว.สมชาย แสวงการ อดีตปธ.กรรมาธิการวุฒิสภา ระบุว่า
#ร่วมกันทวงคืนความยุติธรรมให้สังคมไทย
#สนับสนุนความเห็นอาจารย์อานนท์อย่างยิ่งครับ
.
ศาลฎีกาอย่าทิ้งอำนาจ อย่าทิ้งประชาชน อย่าทิ้งประเทศชาติ
สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
4 กุมภาพันธ์ 2568
.
เรียน สมาชิกแห่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
เรื่อง ให้กำลังใจองค์ประชุมแห่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อย่าทิ้งอำนาจ อย่าทิ้งประชาชน อย่าทิ้งประเทศชาติ
.
พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์เมื่อทรงเป็นยุวกษัตริย์ผู้สูญเสียพระเชษฐาและพระเจ้าแผ่นดิน ขณะประทับบนรถยนต์พระที่นั่งที่ออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามหลังจากทรงกราบลาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมุ่งหน้าไปสนามบินดอนเมืองเพื่อเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในบทความพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ในวารสารวงวรรณคดี ซึ่งมีชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” ทรงรับฟังเสียงของชายคนนั้น และทรงใคร่ครวญในพระราชหฤทัยและอยากจะทรงตอบกลับไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” แต่ก็มิสามารถทรงทำได้
.
ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติและเกิดปัญหา สถาบันตุลาการ ผู้ทำงานในพระปรมาภิไธย ย่อมเป็นหลักชัยของบ้านเมือง ในการแก้ไขปัญหาและวิกฤติของบ้านเมือง ให้สมกับที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อมีตำแหน่งก็ต้องมีอำนาจ และต้องมีหน้าที่ สถาบันตุลาการนั้นเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย องค์พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้งสามนั้นผ่านทางสามสถาบัน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับมาโดยตลอด สถาบันตุลาการจึงมีทั้งอำนาจและมีหน้าที่ในการตรวจสอบ ถ่วงดุล รักษาความยุติธรรม หลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐของชาติบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความยุติธรรม เกิดความสงบสามัคคีในบ้านเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันตุลาการย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามและกำจัดอำนาจบริหารที่ฉ้อฉล คดโกงประเทศชาติและประชาชน
.
ทั้งนี้ตามหลักกฎหมายและหลักรัฐศาสตร์ทั่วไป ผู้ใดมีอำนาจสถาปนา ผู้นั้นย่อมมีอำนาจถอดถอน เมื่อสถาบันตุลาการมีอำนาจและมีหน้าที่ในการสั่งจำคุกตามคำพิพากษาในพระปรมาภิไธย สถาบันตุลาการย่อมเป็นผู้มีอำนาจโดยชอบธรรมในการสั่งทุเลาโทษ พักโทษได้ หน่วยงานอื่นหรือสถาบันอื่นใด ย่อมมิสมควรมีอำนาจก้าวก่ายหรือละเมิดอำนาจอันชอบธรรมของสถาบันตุลาการในการทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยเพื่อชาติบ้านเมือง อำนาจในการพักโทษหรือทุเลาโทษนั้นเป็นอำนาจของสถาบันตุลาการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 ซึ่งแก้ไขล่าสุดตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2550
.
อย่างไรก็ตามการขัดกันแห่งกฎหมายอันเป็นการลิดรอนหรือก้าวล่วงอำนาจของสถาบันตุลาการในการพักโทษหรือทุเลาโทษนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ดังที่ต้องมีการวินิจฉัยการขัดกันระหว่าง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และ 248 กับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 29 และ 30 โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2482 ยืนเขตอำนาจศาลในการพิจารณาพักโทษหรือทุเลาโทษ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับได้ไม่ว่าก่อนหรือหลังจากที่ได้สั่งให้บังคับคดีไปแล้ว อำนาจศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้ตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.246 หาได้ก้าวก่ายลบล้างกันกับอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์นั้นไม่ โดยเป็นคนละส่วนต่างหากจากกัน อันเป็นการยืนยันอำนาจของสถาบันตุลาการในการพักโทษและทุเลาโทษดังกล่าว (องค์คณะบรรพตุลาการสามท่านคือพลางกูร-นิติศาสตร์-เทฟโนต์)
นอกจากนี้ในอดีตเมื่อมีความพยายามร่างกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ใช้ในการควบคุม จำคุก และทุเลาการบังคับโทษจำคุก ในราว พ.ศ. 2551 นายอนุชาติ คงมาลัย รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุดในเวลานั้น ได้บันทึกความเห็นในหนังสือ อส. 0027(พก)/6240 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 มาตรา 89/2 และมาตรา 246 ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจศาลในการมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นและมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายขังหรือหมายจำคุก หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป
.
ในปัจจุบันมีเหตุที่ต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กลับขัดกับ พรบ. ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 6 เสียเอง เพราะบัญญัติไว้ว่ากฎกระทรวงใดๆ ที่ออกตามพรบ. ราชทัณฑ์นี้จะขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้ ซึ่งต้องวินิจฉัยโดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ และต้องวินิจฉัยต่อไปนั้น น่าจะเป็นประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับสถาบันตุลาการเอง หากจะกลับคำพิพากษาศาลฎีกา 1092/2482 สถาบันตุลาการจะทิ้งอำนาจอันชอบธรรมของตน ตามหลักผู้ใดมีอำนาจสถาปนา ผู้นั้นมีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ และจะทำให้เสียหลักนิติรัฐ นิติธรรม ในการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจบริหารของสถาบันตุลาการไปหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น ศาลพิพากษานักการเมืองที่ทุจริต กรมราชทัณฑ์ก็สามารถสถาปนาอำนาจมาทุเลาหรือพักโทษได้โดยสะดวกให้กับนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง
.
ทั้งนี้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
.
พ.ศ. 2562 ข้อ 26 หากมีปัญหาข้อกฎหมายให้นำปัญหาข้อกฎหมายนั้นเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อขอความเห็นก็ได้ และข้อ 58 ในนำปัญหาข้อกฎหมายสำคัญเหล่านี้เข้ามาลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคือ (1) ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกัน หรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา (3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน (4) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
.
ทั้งนี้ (1) การทิ้งอำนาจทุเลาโทษหรือพักโทษของสถาบันตุลาการ
(2) การขัดกันแห่งกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 กับ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2550 และ
(3) การกลับคำพิพากษาศาลฎีกา 1092/2482
ย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญที่ควรต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 27 และ 58 ของข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2562 เป็นอย่างยิ่ง
.
ขอกราบเรียนให้กำลังใจท่านสมาชิกแห่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้ทำงานในพระปรมาภิไธย ว่าอย่าทิ้งอำนาจของสถาบันตุลาการ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เข้มแข็ง รักษากฎหมาย เพื่อประชาชนจะได้มีที่พึ่ง ประเทศชาติจะดำรงมั่นคงสถาพรอยู่ได้ รักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม เกิดความสงบร่มเย็นอยู่ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต ขอฝากประเทศไทยไว้ในอำนาจของทุกท่าน
ขอกราบเรียนมาด้วยความเคารพอย่างสูง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
กรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา