จากการ ที่ภาคเกษตรกรรม ทั้งชาวนา ชาวไร่อ้อย ถูกสังคมกล่าวโทษราวกับว่า เป็นต้นเหตุปัญหาใหญ่ ของฝุ่น Pm 2.5 แถมยังมีการเสนอให้จับกุมชาวบ้านเผาถ่าน ไปจนถึงร้านหมูกะทะ เลอะเทอะไปหมด
ทั้งๆที่สาเหตุ pm 2.5 อาจจะมีมากหลากหลาย เช่น จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ การจราจรรถยนต์ฟอสซิล อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และจากสภาวะจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอื่นๆอีกมากมาย
คำถามคือ จริงหรือว่าตัวการใหญ่ของ pm 2.5 คืออะไร มาจากชาวนา ชาวไร่เท่านั้นหรือ การมาลงดาบที่ผู้ว่าราชการกับท้องถิ่น จะแก้ไขปัญหาเผา นา-ไร่ จะได้ผลในระยะยาวใช่หรือไม่
เรามาลองพิจารณาข้อเสนอของ 4 สถาบันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ต่อกมธ.ที่ดินและสิ่งแวดล้อมฯรัฐสภา ว่ามีแนวทางอย่างไร หรือจะให้ยุติอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทรายปิดกิจการไปเลย
มาดูข้อเสนอที่น่าสนใจมากๆ ดังนี้
1. ขอให้ทางกมธ.ช่วยประสานหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลปัญหาที่มาของ pm 2.5 อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
2. สน.อ้อยและน้ำตาล ออกมาตราการในการลดการเผาอ้อยมาตลอด เหตุใด pm 2.5 จึง ไม่ลดลง หรืออาจจะมาจากการเผาผลผลิตการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ และจะมีมาตรการอย่างไร เช่น การห้ามนำเขาผลผลิตเกษตรที่มาจากต่างประเทศและมีการเผานาไร่ อย่างกว้างขวาง นี่เราเล่นงานแต่คนไทย แต่ปล่อยสินค้านำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาซะแบบนั้น มันจะต่างกับขายไฟฟ้าให้คอลเซ็นเตอร์อย่างไรกัน
3. ปัญหาการเผาอ้อย ในส่วนของโรงงานน้ำตาลไม่ควรลอยตัว กอดอกรอดูเฉย จ้องแต่จะขายรถตัดอ้อย อัดใบอ้อย และรัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลโดยเฉพาะของโรงงานน้ำตาล ให้ใช้พลังงานอัดแท่งจากยอดอ้อยใบอ้อย ทั้งระบบ โรงงานน้ำตาล จะได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาเกษตรกรเผาอ้อย ทั้งก่อนและหลังใช้รถเกี่ยวอ้อยแล้ว ไม่ใช่ผลักภาระให้ชาวนา ชาวไร่กู้เงินใปซื้อรถตัดอ้อยราคาแพง สุดท้ายก็จมอยู่กับการใช้หนี้ แทนที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในเรื่องสินค้าน้ำตาลคาร์บอนต่ำ ควรจะได้ทั้งเงินทั้งกล่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรปและนานาประเทศ
4. ขอให้รัฐบาลยุติมาตรการในการลงโทษเกษตรกรและย้ายผู้ว่าราชการ หากมีกรณีเผานาไร่ เพราะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่มีอะไรดีขึ้นในระยะยาว การใช้มาตรการแบบนี้ หากจะได้ผล ก็จะได้ผลในระยะสั้นๆ เท่านั้น
สุดท้ายนี้ ในวันที่ 13 กพ.นี้ เวลา 13.00 น. ณ.รัฐสภา กทม. ทางสถาบันชาวไร่อ้อยและสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้รับเชิญ กมธ. ให้เข้าชี้แจงกับหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป
บทความจาก ทปษ.ด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว