.
17 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของ “ฟ้า” พรหมศรหรือพรหมลิขิต วีระธรรมจารี และ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564
พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกทุกข้อหา รวมโทษจำคุกคนละ 7 ปี ปรับคนละ 30,000 บาท ก่อนลดโทษให้ เหลือโทษจำคุกฟ้ารวม 3 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท และโทษจำคุกปูนรวม 4 ปี 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท
ม็อบ #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 การชุมนุมใหญ่ลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112
เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 กลุ่ม “ราษฎร” ได้นัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เพื่อเปิดการรณรงค์รวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อรัฐสภา การชุมนุมเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 20.20 น. โดยมีนักกิจกรรมหลายคนขึ้นปราศรัยให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 รวมถึงพรหมศรและธนพัฒน์ด้วย
จากการชุมนุมดังกล่าวมีนักกิจกรรมมากถึง 13 ราย ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึง แต่มีเพียงพรหมศรและธนพัฒน์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ด้วย โดยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล
ต่อมา ในการสืบพยานนัดแรก พรหมศรได้ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เนื่องจากต้องดูแลมารดาที่ป่วย ส่วนธนพัฒน์ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าได้ปราศรัยตามคำฟ้องจริง แต่ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง โดยมีข้อต่อสู้ว่า จำเลยปราศรัยเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเสนอชื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ และวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้เกิดการโอนย้ายทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
อ่านรายละเอียด>> บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “ปูน” ธนพัฒน์ กรณีปราศรัยให้ร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมาย-วิจารณ์การโอนย้ายทรัพย์สิน ใน #ม็อบ31ตุลา64
.
พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง และให้รอการลงโทษ โดยเห็นว่า ถ้าธนพัฒน์มีเจตนาดีควรใช้วิธีการที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
วันนี้ (17 ก.พ. 2568) เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณา 603 พรหมศรพร้อมกับเพื่อนและ ทนายความได้เดินทางมาถึงศาลแล้ว แต่ธนพัฒน์กำลังเดินทางมา ศาลจึงพิจารณาคดีอื่นไปก่อน เมื่อเวลา 10.34 น. ธนพัฒน์มาถึงศาล จำเลยทั้งสองพร้อมทนายความและเพื่อนที่มาให้กำลังใจก็เข้าไปยังห้องพิจารณา รวมถึงตำรวจศาล 1 นาย
ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา พรหมศรได้ขออนุญาตศาลและเดินไปยื่นเอกสารประกอบคำรับสารภาพ โดยศาลได้รับไว้และให้ทนายจำเลยเขียนคำร้องขอยื่นเอกสารเพิ่มเติม จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดย ธนพัฒน์ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนพรหมศร จำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพ ตามประมวลกฎหมายวิธีความพิจารณา มาตรา 176 ศาลสามารถพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้อง
ในส่วนของจำเลยที่ 1 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมในวันที่เกิดเหตุ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และจำเลยที่ 1 เองก็รับว่าได้ขึ้นพูดปราศรัยจริง โดยอ้างว่า ตนมีเจตนาดี ปราศรัยเพื่อเชิญชวนให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย
ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คน ไม่มีมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนด การชุมนุมดังกล่าวจึงฝ่าฝืนประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่ในทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงแต่เป็นคนขึ้นพูดปราศรัย
ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จากคำให้การเป็นหนังสือของพยานโจทก์ ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ให้การว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสียหาย ทำให้คนไม่จงรักภักดี
จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เอาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติไปเป็นของตนเอง ดำรงตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฯ แล้ว เห็นว่า ไม่มีการแก้กฎหมายเอาสาธารณสมบัติมาเป็นของพระองค์เอง เป็นการแก้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
ที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยถึงการแปลงชื่อผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์มาเป็นพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10 แทน เห็นว่า เป็นเรื่องดี เนื่องจากทำให้ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยถึงการล้อมรั้วลานพระบรมรูปทรงม้า เห็นว่า เป็นการล้อมรั้วเพื่อความปลอดภัย
การปราศรัยของจำเลยจึงเป็นการด้อยค่า ไม่ใช่การรณรงค์ให้เข้าชื่อแก้กฎหมาย หากจำเลยมีเจตนาดีในการปราศรัยที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมาย ควรใช้วิธีการที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
ในส่วนที่จำเลยปราศรัยเกี่ยวกับสาธารณรัฐ ยังไม่มีข้อเท็จจริงมากพอว่าจำเลยจะกล่าวเกี่ยวกับการปกครองว่าอย่างไร จึงยังไม่เป็นการอาฆาตมาดร้าย
พิพากษาว่า ธนพัฒน์ จำเลยที่ 1 และพรหมศร จำเลยที่ 2 มีความผิดตามคำฟ้อง ในข้อหาตามมาตรา 112 และร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ในขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด อายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว ถือว่ามีความรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว ไม่มีเหตุให้ลดโทษ ข้อหาตามมาตรา 112 จำคุกคนละ 6 ปี ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท
ธนพัฒน์ จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท
พรหมศร จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท
เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่า เป็นการปราศรัยทางการเมือง ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ มีการจัดการเลือกตั้ง มีหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นการแสดงความเห็นเพื่อต้องการให้ประเทศพัฒนาดีขึ้น และธนพัฒน์ จำเลยที่ 1 อายุยังน้อย ขาดความยับยั้งชั่งใจ โทษจำคุกไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสอง จึงให้รอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติ 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน และให้ทำประโยชน์สาธารณะเป็นเวลา 12 ชั่วโมง
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น เมื่อศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ จึงไม่สามารถนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอของอัยการโจทก์
ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ ทิวา ชีวินไกรสร และ บวรวรรณ ธีระมงคลกุล
.
หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น พรหมศรได้ร้องไห้ด้วยความดีใจและสวมกอดเพื่อน ธนพัฒน์เองก็ขอบคุณทนายความและเพื่อน ๆ ที่มาให้กำลังใจ และทั้งสองได้กล่าวขอบคุณผู้พิพากษาก่อนที่จะไปจ่ายค่าปรับรวม 35,000 บาท
.
สำหรับพรหมศร คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษา ในจำนวนคดี 112 ที่พรหมศรถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คดี โดยก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ ลงโทษจำคุก 4 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี แต่คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ส่วนธนพัฒน์ คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษาเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม จำคุก 1 ปี และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เช่นกัน