.
วันที่ 18 ก.พ. 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัว “มานี” เงินตา คำแสน และ “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง จากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดูหมิ่นศาล จากกรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยไม่มีหมายนัดแจ้งทนายมาก่อน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
.
คดีนี้มี สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มอบอำนาจให้ เนติพันธ์ สมจิตต์ เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเงินตาและจิรัชยา โดยผู้กล่าวหาเห็นว่าคำพูดของทั้งสองคนทำให้ศาลหรือผู้พิพากษาได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
ต่อมา วันที่ 25 ส.ค. 2565 ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากที่พัก ตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 ส.ค. 2565 ควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี, ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 328 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ก่อนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันในชั้นฝากขัง อ้างเหตุว่า การกระทำของทั้งคู่ถือเป็นภัยอันตรายอย่างร้ายแรงต่อศาล ทำให้ทั้งสองถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอยู่นาน 9 วัน กระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 3 ก.ย. 2566
หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ทั้งคู่ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะแถลงขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องในเวลาต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 328 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยทั้งสองสำนึกในการกระทำความผิด ตลอดจนมีการแถลงขอโทษต่อผู้เสียหาย เห็นสมควรให้ลงโทษสถานเบา จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันคนละ 105,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ จนกระทั่งทั้งสองถูกคุมขังตามคำพิพากษาในคดีอื่น จึงมีการถอนประกันในคดีนี้ไปในภายหลัง
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เงินตาและจิรัชยาได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษ และให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองของสังคมต่อไป
.
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา “มานี – จินนี่” ส่วนศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัวทั้งสองมาฟังคำพิพากษา โดยไม่มีหมายนัดแจ้งทนาย
วันนี้ (18 ก.พ. 2568) เวลา 10.20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เงินตาและจิรัชยาถูกเบิกตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยไม่มีหมายนัดมายังทนายมาก่อน
ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ เงินตาถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นเวลา 216 วันแล้ว ในคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาลอีกคดีของเธอ จากกรณีทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา
ส่วนจิรัชยาก็ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นเวลา 35 วันแล้ว ในคดีมาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎาคมแห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวเช่นกัน