“พี่เต้” ปชป เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังคุ้มครองพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และ ร่วมวางทุ่นชะลอความเร็วเรือ บริเวณหญ้าทะเล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 17 ธ.ค.67 จากสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีผลต่อแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ และภูเก็ต เกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลให้พะยูนในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งอาหาร มีอาหารไม่เพียงพอ จากการสำรวจพบว่าพะยูนมีลักษณะผอมมากกว่าปกติ พะยูนจะต้องอพยพไปยังพื้นที่แหล่งอาหารใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกยตื้นเพิ่มขึ้นและอาจต้องเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตของพะยูนได้ตลอดเวลา
ซึ่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดภูเก็ต ติดตามสถานการณ์พะยูนอย่างใกล้ชิด
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ และ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตน พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนิตศักดิ์ ดารามั่น อดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์-อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะฯ ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายและข้อสั่งการ ให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ช่วยกัน ดูแลปกป้องพะยูน ให้เพิ่มจำนวน ลดการเสียชีวิต พร้อมหาวิธีเพิ่มหญ้าทะเล ลดการบาดเจ็บจากการวางอวนทะเลของชาวประมง คมจากใบพัดเรือสปีดโบ๊ทที่วิ่งเร็ว หรือ เรือสปีดโบ๊ทวิ่งเร็วชนพะยูน ในบริเวณพะยูนอาศัยอยู่ พร้อมช่วยกันไม่ให้มีขยะทะเล เพราะพะยูนบางส่วนกินพลาสติกขยะเข้าไปทำให้ขับถ่ายไม่ออก จนเสียชีวิต
จากนั้นคณะฯได้ตรวจเยี่ยมชมการปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังคุ้มครองพะยูนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต บริเวณอ่าวป่าคลอก ตำบล
ป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 เพื่อติดตามสถานการณ์ ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาพะยูน แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
โดย นายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ให้การต้อนรับ และ แจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์เพื่อเฝ้าระวัง คุ้มครองดูแลและป้องกันบริเวณแหล่งหญ้าทะเล หรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน ภายใต้มาตรการตามประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง ขอความร่วมมือดูแล เฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อพะยูน ซึ่งกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพะยูน 3 มาตรการ คือ
- เฝ้าระวังการทำงานประมงบริเวณชายฝั่ง
- การเดินเรือในบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของพะยูน
- หากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากการเดินเรือหรือการทำประมงในพื้นที่ ให้แจ้ง
สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 หรือหน่วยงานในสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่
นอกจากนี้
นายมงคลกิตติ์ฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 จัดวางแนวเขตพื้นที่แหล่งหญ้าทะเล และวางทุ่นชะลอความเร็วเรือ บริเวณแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว
อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ยังทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในพื้นที่อ่าวป่าคลอก รวมถึงประชาชนในพื้นที่ และชาวประมงชายฝั่ง โดยการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับชุมชนในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล