3 ก.พ.2568-ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “การค้นพบใหม่ ที่มาของฝุ่นร้ายPM 2.5” ระบุว่า ตามคาด พออากาศอุ่น ความชื้นเพิ่ม PM2.5 กลับมาอีกแล้ว เที่ยวนี้จะแรงและยาวกว่าเดิม และก็จะระบาดไปทางเหนือจนยันเชียงราย สำหรับมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ Free มีคนขึ้นถึง 25 ล้านคนที่ได้รอดจากการหายใจเอาฝุ่นพิษเข้าไป
15 ปีที่ผ่านมา ผมสงสัยมาตลอดว่า PM2.5 ที่มาอาละวาดอยู่ทุกหน้าหนาวจะต้องมีปฏิกิริยาของสารเคมีอะไรอยู่เบื้องหลังมาเสริมหรือเปล่า เคยไปเจรจากับNASA ขอให้มาช่วยสำรวจบรรยากาศเบื้องสูงระดับ stratosphere (15 ไมล์จากพื้นโลก) เขาตกลงจะเอาเครื่องบิน U-2 มาช่วย แต่ฝ่ายทหารซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปฟังใคร กลัวว่าเครื่องบินประเภทนี้จะไปจารกรรมจีน จึงขอระงับเสีย
มาวันนี้มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายท่านที่เห็นเหมือนกับผมว่า นอกเหนือจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ไหลรินลงมาไทย เกิดเป็นฝาชีครอบ (inversion) ทำให้อากาศปิด ควันพิษทั้งหลายจะถูกกักอยู่ไม่กระจายไปไหน แถมมีลมตะวันออกเฉียงเหนือไหลผ่านกัมพูชาที่มีการเผาไร่อย่างหนักเข้ามาทางตะวันออกของไทยเสริมอีก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องทางกายภาพหรือเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดปฐมภูมิ (Primary Sources) ทั้งสิ้น
ขณะนี้ มีข้อสัณนิฐานที่ได้รับการพิสูจน์บ้างแล้วว่า ฝุ่นPM2.5 อาจเกิดจากปฏิกิริยาในระดับทุติยภูมิ(Secondary) ของสารประกอบพวก Organic Aerosol กับสารพวกไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ พบว่า ปริมาณของสารประกอบพวกนี้ มีมากกว่าการเผาของชีวมวลภาคเกษตรถึง 20% และมากกว่าจากรถยนต์และโรงงานถึง 50% การวัดนี้ได้ใช้ เครื่องมือ Aerosol Chemical Speciation หรือACSM วัด Spectrum ของโมเลกุลจากกระบวนการทางเคมีฟิสิกส์
ผลการศึกษานี้เกิดที่เชียงใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ออกมาใกล้เคียงกับการศึกษาอากาศที่เมืองMilan ประเทศอิตาลี
ถามว่าเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นอะไร ?ประเทศไทยใช้ปุ๋ยไนโตรเจน(NO2) มากเกินไปหรือเปล่า เกษตรกรไปหลงเชื่อSalesman? ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่พูดอะไรออกมา สำหรับการที่ฝุ่นเกิดมากในช่วงฤดูหนาวก็สามารถอธิบายได้ง่ายๆว่า เพราะฤดูหนาวอากาศแห้ง การเน่าสลายเป็นแบบแห้งหรือDry Decomposition ซึ่งจะช้ากว่า ในหน้าฝนซึ่งเป็น Wet Decomposition หรือแบบเปียกถึง 20 เท่า หากเป็นแบบนี้เราคงต้องเรียกฤดูหนาวว่า เป็นฤดูหมอกควันกันแล้ว (New Normal)
การค้นพบใหม่นี้ อาจทำให้มีการปรับนโยบายหรือการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบ Resilience หรือที่เรียกว่า การยืดหยุ่น หรืออาจต้องไปให้ไกลถึง Adaptation คือการปรับตัวปรับรูปแบบชีวิตกันเชียว
ทางราชการและเอกชนอาจจะต้องประกาศนโยบายในระดับยุทธศาสตร์อีกอย่างน้อย 20 เรื่อง ซึ่งผมจะยังไม่เขียนในวันนี้
สุดท้ายผมขอเตือนว่า“พิษทางอากาศ” เป็นภัยต่อมนุษย์ทุกคนเพราะต้องหายใจ เรามาช่วยกันให้ตัวเองรอดชีวิตกันดีกว่า ถือว่าเป็นวาระแห่งการอยู่รอดของพวกเราก็แล้วกัน