อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก VAT เป็นภาษีเพื่อการบริโภค ทุก 1% ที่ปรับขึ้นย่อมกระทบต่อราคาสินค้าและบริการเช่นกัน VAT จึงเป็นเหมือนเผือกร้อนของรัฐบาล พูดถึงทีไร จะมีกระแสต่อต้านทุกครั้งว่า เป็นการถอนขนห่านประชาชนขึ้นมาทันที ทำให้การปรับโครงสร้างภาษีในช่วงที่ผ่าน ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับลดอัตราภาษีแทบทั้งสิ้น
รัฐบาลภายใต้การบริหารของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ทางการคลังที่เหลือน้อยเต็มที จากระดับหนี้สาธารณะที่สูงถึง 65-66%ต่อจีดีพี มูลหนี้ใกล้แตะ 12 ล้านล้านบาท ใกล้แตะเพดานที่วางไว้ไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี หรือ 15 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึง พื้นที่ทางการคลังเหลือเพียง 3-4% หรือคิดเป็น 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่การดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ ล้วนต้องใช้เงินจำนวนมากทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน 10,000 บาทที่วันนี้ไม่แน่ใจว่าจะพูดได้เต็มปากหรือๆไม่ว่า เป็นเงินดิจิทัล หลังจากแจกผู้ถือบัตรสวัสดิการและพิการไปแล้ว 14.5 ล้านบาท
ส่วนเฟส2 จะเป็นการแจกอีก 4 ล้านคน สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะต้องใช้เงินอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำหนดการเดิมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบรอบด้าน
สำหรับเฟส3 ที่รัฐบาลตั้งไว้จะแจกเงินราวๆ เดือนมีนาคมปีหน้า ให้กับกลุ่มคนที่เหลือที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐไว้ คิดคร่าวๆ ราว 3.15 แสนล้านบาท หากรัฐบาลยังเดินหน้าตามที่ลั่นวาจาไว้ในช่วงหาเสียง ยังไม่รวมกับนโยบายการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุที่เริ่มต้น 700 ต่อคน หรือเบี้ยคนพิการอีกคนละ 1,000 บาท
ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 พบว่า ที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 พบว่า รัฐบาลจัดเก็บได้สุทธิ 2,792,872 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 126,064.7 ล้านบาทหรือ 4.7% จากงบประมาณปี 2566 ที่จัดเก็บได้สุทธิ 2,666,808 ล้านบาท
สำหรับรายได้ภาษีนั้น หลักๆ 68.10% มาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 2,268,121 ล้านบาท รองลงมาคือกรมสรรพสามิต 523,742 ล้านบาท คิดเป็น 15.72% ตามด้วย หน่วยงานอื่น 421,046 ล้านบาท สัดส่วน 12.64% และกรมศุลกากร 117,949 ล้านบาท คิดเป็น 3.54%
การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร
การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2567 นั้นมากสุดอยู่ที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 947,276 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.64%จากปีก่อน รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 783,096 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.05% จากปีก่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 415,036 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.87% จากปีก่อน และภาษีธุรกิจเฉพาะ 69,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.11%
ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บได้ 33,833 ล้านบาทลดลงถึง 30.66% จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 48,792 ล้านบาท และอากรแสตมป์ จัดเก็บได้ 16,706 ล้านบาทลดลง 2.47% จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 17,129 ล้านบาทและรายได้อื่น จัดเก็บได้ 589 ล้านบาท ลดลง 4.69% จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 618 ล้านบาท
ดังนั้นการจัดเก็บ VAT เพิ่มจากเดิมจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของรัฐบาลในขณะนี้
VAT คืออะไร
VAT คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประเทศไทย นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2535 แทนภาษีการค้า โดยมีอัตราการจัดเก็บที่ 10% แต่ช่วงที่ผ่านมา มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปีมาตลอด ยกเว้นช่วงวิกฤตปี 2540 ที่ไทยใช้อัตรา 10% ตามข้อกำหนดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)
ใครที่ต้องเสีย VAT
ไม่ว่าจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ VAT เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่รวมอยู่ในสินค่และบริการ