ข่าวประจำวัน » ด่วน ประยุทธ์ ยอมถอน !! กม.ยึดอำนาจทหาร หลังทักษิณเบรค แต่จะเอาเข้าอีกรอบ

ด่วน ประยุทธ์ ยอมถอน !! กม.ยึดอำนาจทหาร หลังทักษิณเบรค แต่จะเอาเข้าอีกรอบ

12 December 2024
28   0

12 ธ.ค.2567 – เมื่อเวลา 09.50 น. ที่รัฐสภา นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67 และเมื่อหายแล้วก็มีการยื่นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ตน ซึ่งเมื่ออ่านแล้วตนเห็นว่าต้องมีการแก้ไขแต่กระทรวงกลาโหมและกองทัพไม่มีอะไรที่ขัดข้องหมองใจกับตนที่จะต้องปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทหารเป็นรั้วของชาติ ซึ่งเมื่อมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้งหรือภัยพิบัติต่างๆ ทหารก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการเข้าไปช่วยเหลือ ตนต้องการปฏิรูปกองทัพโดยกฎหมาย

นายประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการพูดถึงเรื่องเนื้อหาว่ามีการป้องกันรัฐประหารได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเปรียบกับบ้านหลังหนึ่ง นิติบัญญัติและตุลาการก็อยู่ในนั้น หากเราต้องการสร้างรั้วขึ้นมาล้อมก็ไม่เสียหายแต่ไม่สามารถที่จะป้องกันโจรเข้าไปในบ้านได้ 100 เปอร์เซ็น แต่หากประชาชนมาเป็นยามรักษารั้ว เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็จะเกิดขึ้น ตนจึงอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 133 (2) เข้าชื่อเสนอกฎหมายสมบูรณ์แบบทุกประการ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของพรรค แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อขอเสียงสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย แต่จะทำก่อนหรือหลังการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาได้ทั้งสิ้น

นายประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนไม่ได้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ควรเสนอได้ จึงมาสอบถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ใครเป็นผู้จัดทำขึ้น และได้คำตอบว่ากระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดทำ ในสมัยของนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเมื่อพ้นตำแหน่งไปก็ได้ ส่งเรื่องกฎหมายฉบับนี้มายังพรรคเพื่อไทย ทางคณะกรรมการกฎหมายของพรรคจึงได้ดำเนินการต่อมีการเติมพริก เติมเกลือ เติมมะนาวบ้าง เพื่อให้เกิดรสชาติ และอาจจะมีความผิดเพี้ยนจากร่างกระทรวงกลาโหมไปบ้างเล็กน้อย แต่ถามว่าสิ่งที่เพิ่มเติมนั้นผิดวิสัยในการเสนอกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยอาจทำแบบอย่างหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่ปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตนได้เสนอร่างกฎหมายไปแล้ว พบว่ามีจุดบกพร่องมี 24 จุดที่ต้องแก้ไข ซึ่งตามข้อบังคับการประชุม หากจะมีการแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติมเล็กน้อย ตนสามารถทำได้เลย จึงเตรียมยื่นขอถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมมาแก้ไข ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 1 วัน และเสนอกลับเข้าสภาอีกครั้ง และจะต้องทำความคิดเห็นของสาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้