ข่าวประจำวัน » ศาลไม่ให้ประกัน !! แอมป์ 3 นิ้ว ใส่ร้ายในหลวง หลังอ้างป่วย

ศาลไม่ให้ประกัน !! แอมป์ 3 นิ้ว ใส่ร้ายในหลวง หลังอ้างป่วย

12 December 2024
26   0

วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 7 เดือน ปรับ 1,500 บาท และจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ

โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่แก้โทษปรับเหลือ 1,200 บาท ก่อนศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันณวรรษระหว่างฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้ในวันนี้ณวรรษต้องถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งศาลฎีกาว่าจะให้ประกันหรือไม่

ย้อนไปวันเกิดเหตุ (13 ก.พ. 2564) “คณะราษฎร 2563” ได้จัดการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเขียนความเห็นลงบนป้ายผ้าสีแดง ก่อนเข้ารื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และนำผ้าแดงที่มีข้อความแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งยังมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และประเด็น 3 ข้อเรียกร้อง โดยณวรรษได้ปราศรัยเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการยื่นฟ้องณวรรษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

การชุมนุมในวันดังกล่าวนอกจากณวรรษแล้ว ยังมีแกนนำนักกิจกรรมอีกจำนวน 8 ราย ถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิตในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษ “รุ้ง” ปนัสยา กับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ ฐานทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากมีคำปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้และทำให้ต้นไม้เสียหาย จำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครซึ่งก็คือกระถางดอกไม้ จำนวน 50,000 บาท 

สำหรับณวรรษ ในวันแรกของนัดสืบพยาน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ณวรรษได้ตัดสินใจถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา วันที่ 26 เม.ย. 2566 ศาลชั้นต้นจึงมีพิพากษาว่า ณวรรษมีความผิดตามฟ้อง ในข้อหาตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 2 เดือน ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 2,000 บาท และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 1,000 บาท (โดยที่กฎหมายกำหนดโทษปรับข้อหานี้ไว้ ไม่เกิน 200 บาท เท่านั้น)

ศาลเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษจำคุก

ในวันดังกล่าว ศาลได้อนุญาตให้ประกันณวรรษในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ณวรรษได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ (9 ธ.ค. 2567)