พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล “อาภากร” พระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด
ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในปี พ.ศ. 2436 ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือแห่งอังกฤษ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้ทรงรับการเลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในสำนักราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ แล้วเสด็จกลับสยามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท แล้วทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ “กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระองค์ได้ทรงแก้ไขและปรับปรุงระเบียบของโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นพระอาจารย์ของนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับทหารเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต การเดินเรือเรขาคณิต และอุทกศาสตร์ ทรงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของทหารเรือจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง กองทัพเรือไทยจึงถือว่าวันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือว่า “เสด็จเตี่ย” และ “พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย” และ “หมอยา” เนื่องจากทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ และทรงแต่งตำรายาแผนไทยด้วย ทรงรักษาโรคให้ประชาชนโดยไม่คิดเงิน ดังนั้นประชาชนจึงขนานพระนามพระองค์ว่า หมอพร
ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2460 สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2461 ต่อ พ.ศ. 2462 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป โดยเรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “เรือหลวงพระร่วง” ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงแล่นข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานครด้วยพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา 15,000 ไร่
พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ผู้เห็นการณ์ไกล ได้กราบทูลขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ ชลบุรี เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2465 เพราะทรงเล็งเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมกับการฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด และมีเกาะน้อยใหญ่รายล้อมสามารถบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี
เสด็จเตี่ยของทหารเรือไทยทรงอุทิศพระองค์เพื่อกิจการทหารเรือมาตลอดพระชนม์ชีพ จนสุดท้ายได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เพื่อทรงพักผ่อนรักษาพระองค์หลังจากทรงประชวรมาระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ทรงสิ้นพระชนม์ ณ ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร สิริพระชนม์มายุ 43 พรรษา ดังนั้นกองทัพเรือไทยจึงถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมทุกปีเป็นวันอาภากรเพื่อเทิดพระเกียรติขององค์พระบิดาทหารเรือไทย
อ.สาริต พรหมนรา
สำนักข่าววิหคนิวส์จังหวัดพัทลุง รายงาน
สำนักข่าว vihoknews