ข่าวประจำวัน » ศาลไม่ให้ถอด !! กำไล EM พอล หลังโดนคดี112 แม้อ้างไม่หลบหนี

ศาลไม่ให้ถอด !! กำไล EM พอล หลังโดนคดี112 แม้อ้างไม่หลบหนี

29 April 2025
12   0

.

สำนักข่าว today – ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (28 เม.ย.) เวลา 15.40 น. ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส (Dr.Paul Wesley Chambers) นักวิชาการชาวอเมริกัน ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่ติดข้อเท้ามาตั้งแต่ 10 เม.ย. 2568
.
หลังจากศาลใช้เวลาพิจารณาราว 1 ชั่วโมง ต่อมาเวลา 16.40 น. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอดอุปกรณ์ติดตามตัว ระบุเหตุผล “กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ยกคำร้อง” ด้าน ดร.พอล เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาต่อไป
.
จากคดีที่ ดร.พอล ถูกแม่ทัพภาค 3 ในฐานะผอ.รมน. ภาค 3 มอบอำนาจให้นายทหารไปกล่าวหาว่าในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุมีการเผยแพร่คำโปรยหรือข้อความแนะนำงานเสวนาวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของสิงคโปร์
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 เม.ย. หลังจาก ดร.พอล ทราบว่าถูกศาลออกหมายจับ ก็เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่ได้ถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปฝากขังต่อศาล โดยศาลจังหวัดพิษณุโลก มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 2 ครั้ง ในวันเดียวกัน จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
.
ก่อนที่ 9 เม.ย. ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยกำหนดเงื่อนไขให้วางหนังสือเดินทาง (Passport) ไว้ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น แต่งตั้งผู้กำกับดูแลระหว่างปล่อยชั่วคราว และกำหนดให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยติดตั้งไว้ที่ข้อเท้าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
.
ทั้งนี้ ตามเอกสารเหตุผลคำร้องขอปลด EM นั้น ที่ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยประกอบด้วย 4 ประเด็นคือ
.

  1. ดร.พอลไม่ใช่ผู้เขียนและโพสต์ข้อความในเว็ป ISEAS โดยผู้กล่าวหานำมาจากเฟซบุ๊กบุคคลที่มีลักษณะโจมตีทางการเมือง
    .
  2. ดร.พอล ยืนยันไม่ได้หลบหนี โดยเงื่อนไขอื่นของศาล-ตม. ก็เพียงพอต่อการติดตามตัวแล้ว
    .
  3. การติด EM ไม่ใช่แค่พันธนาการร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
    .
  4. คดี ดร.พอลได้วางหนังสือเดินทางไว้กับศาล มีที่อยู่แน่นอน อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมรายงานตัวประจำเดือน และไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือผิดเงื่อนไขระหว่างปล่อยชั่วคราว การใช้ EM จึงอาจไม่สอดคล้องกับหลักการ “น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น” และ “ไม่เกินความจำเป็น” ในการจำกัดสิทธิของผู้ต้องหา
    .