.
ปธ.กมธ.ป.ป.ช. รับเรื่อง มงคลกิตติ์ สอบ อดีตผู้บริหารสภา ทุจริตจัดซื้อระบบไอที มูลค่าเกือบ 6 พันล้าน
กมธ.ป.ป.ช. รับเรื่องร้องให้สอบ “อดีตผู้บริหารสภาฯ-ขรก.” ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างระบบ IT สภาฯ มูลค่าเกือบ 6,000 ล้าน อ้างมีฮั้วประมูล
เวลา 9.00 น. วันที่ 3 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกรรมาธิการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากนายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ขอให้ตรวจสอบกรณีการฮั้วประมูลการจัดซื้อจัดจ้างระบบไอที ( IT ) ของรัฐสภา
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความไม่โปร่งใส สืบเนื่องจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภา เรื่องการระบบไอทีของสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้งบฯ ไปเกือบ 6,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2562 – 2566 และการสอบในครั้งนี้ พบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างระบบไอที ตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้บริหารฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างอาจเกี่ยวข้องหรือสั่งการหรือไม่ รวมทั้งอ้างถึงผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ตั้งข้อสังเกตว่ามีข้าราชการระดับสูงของสภาผู้แทนราษฎรดูแลในเรื่องนี้ที่จะต้องตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบ 21 โครงการ 5,477 กว่าล้านบาท แบ่ง 2 ส่งนโดยมีบริษัท A ได้ไป 10 โครงการมูลค่า 4,904 ล้านบาท ส่วนอีก 11 โครงการแบ่งให้กับพวกพ้อง มูลค่า 573 ล้านบาท
“ถามว่าพฤติกรรมสอบไปในทางทุจริตหรือไม่ คือมีผู้บริหารฝ่ายการเมือง ได้เชิญผู้บริหารของสภาผู้แทนราษฎร ที่รับผิดชอบเข้าไปพบเป็นการส่วนตัว และสั่งการให้ช่วยเหลือบริษัท A และบริษัท P ให้ชนะการประมูลหลายโครงการ ภายใต้การดูแลของฝ่ายการเมืองจริงหรือไม่ ต้องดูว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่การร่าง TOR การทำประชาพิจารณ์ การขอราคากลางจะเป็นการล็อคสเปคกันหรือไม่ หรือ กระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วย การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐปี 2542 ว่าด้วยกฎหมายฮั้วประมูล จัดคู่เทียบที่เตรียมกันมาหรือไม่” นายมงคลกิตติกล่าว
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า อาจจะมีการล็อคสเปคหรือไม่ กับผลิตภัณฑ์ 3 ยี่ห้อเพื่อไม่ให้คู่แข่งขันรายอื่นเสนอราคาได้ อ้างถึงกระบวนการอาจจะล็อคสเปค โดยกรรมการกำหนดให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ชนะ ในงบประมาณสูง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยพยายามใช้งบประมาณ แต่ละโครงการให้ถึง 100 ล้านบาท เพราะหากเกินจะต้องผ่านความเห็นชอบผ่านกระทรวงดีอี
“บริษัท A ที่มีผู้เกี่ยวข้อง คือ นายจุ๊บ และ มิสเตอร์พี เข้ามาเกี่ยวข้อง ทราบงานดังกล่าวก่อนจะดำเนินการ นักการเมืองแถวราชบุรีพาไปเจอฝ่ายบริหารที่บ้านริมน้ำ แต่ไม่ทราบว่าหรือแม่น้ำไหน หรือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง มีการสั่งการเรียกฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบโครงการนี้เข้าไปคุยและสั่งการ
หลังจากนั้น เมื่อโครงการผ่านสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนชุด พบว่า มีการต้องการเปิดกว้างโครงการดังกล่าวให้กับบริษัทอื่นบ้าง แต่เป็นการเชื่อมระบบจึงทำให้ไม่แน่ใจว่าฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันมีการยกเลิกโครงการหรือไม่เพราะไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่ต้องการยุ่งกับกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากล” นายมงคลกิตติ์กล่าว
ส่วนประธาน กมธ.ป.ป.ช. กล่าวว่า การขอให้ตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของอดีตผู้บริหารสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะระบบไอทีที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเข้าไปพิจารณาบรรจุในวาระการประชุมของกรรมาธิการต่อไป