นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา เข้าชื่อกันเพื่อ ขอให้ประธานรัฐสภา
วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขเกือบทั้งฉบับ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา ได้รวบรวมรายชื่อวุฒิสภากว่า 40 คน และยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาแล้ว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายาที่ผ่านมา
เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะ ส.ว.ยังติดใจปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้เกิดความรอบคอบ และหาก ส.ว.ไปรับหลักการการแก้ไข โดยไม่สอบถามศาลรัฐธรรมนูญ ในอดีตปี 2556 ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว จึงควรให้ศาลวินิจฉัยก่อนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบัย หรือเกือบทั้งฉบับ จะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ในการทำประชามติมาแล้วหรือไม่
ส่วนจำเป็นจะต้องมีการชะลอการลงมติรับหลักการในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ออกไปก่อนหรือไม่นั้น นายกิตติศักดิ์ เห็นว่า เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ที่อาจนำไปหารือในสภาผู้แทนราษฎรก่อน ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องรอก่อน เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นตรงกันข้ามกับรัฐสภาอาจจะเกิดปัญหา
นายกิตติศักดิ์ ยังระบุอีกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จัดส่งให้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาบ และฝ่ายค้าน ที่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และโดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ iLaw ที่ ส.ว. ยังสงสัยว่า iLaw มีหน้าที่ยื่นแก้ไขหรือไม่ เป็นองร์กรจากต่างประเทศหรือไม่ เพราะมีหลักฐานการรับเงินจากต่างประเทศ ดังนั้น ส.ว.ในฐานะที่ดูแลประเทศชาติ และการรับเงินมาสร้างความวุ่นวายให้ประเทศนั้น ไม่สามารถยอมได้ จึงเรียกร้องให้ผู้นำ iLaw เปิดหน้ามาพูดคุยกัน
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว. ประวิงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นานกิตติศักดิ์ ยอมรับว่า ส.ว. ต้องโดนตำหนิอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่การประวิง หรือยื้อเวลา เพราะแม้นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นที่ตรงกับ ส.ว. ที่จะต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว. จะต้องดูแลตรวจสอบให้การแก้ไขตรงตามรัฐธรรมนูญ แม้จะช้าไปเล็กน้อยแต่เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ความผิดภายหลัง เพื่อความรอบคอบ
ส่วนการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่นั้น นายกิตติศักดิ์ เห็นว่า ผู้ชุมนุมเป็นคนไทยด้วยกัน พูดคุยกันได้ และการชุมนุมไม่ถือเป็นความผิด แต่อย่าเลยเถิด เพราะประชาธิปไตย ต้องมีขอบเขตไม่เลยเถิดถึงสถาบัน เพราะยังมีประชาชนอีกฝ่ายจำนวนมหาศาล ที่จะทนไม่ได้กับการชุมนุมที่เกิดขึ้นเหมือนกัน