“วิษณุ”ถกปล่อยผีท้องถิ่นเสร็จ แย้มแก้กฎหมาย 6 ฉบับให้สอดคล้องรธน.แล้วยื่นครม.กรองส่งสนช.มติบังคับใช้ โยนคสช.เคาะปลดล็อก รับเอาข้อสังเกต”มาร์ค”ตั้ง 3 ประเด็นไว้พิจารณา ชี้กกต.อำนาจเต็มจัดดำเนินการเลือกตั้งมอบหน่วยงานช่วยคุมได้
แนวหน้า – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ที่ประชุมเห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ได้คงไม่สามารถทำได้ในเร็ว ๆ นี้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ..2545
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.)
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.)
พ.ร..บ.เทศบาล พ.ศ.2496
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528
พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
“ทั้ง 6 ฉบับนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นค่อยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อกฎ หมายทั้ง 6 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ได้ว่า จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อกต่อไป อย่างไรก็ตามคิดว่าการดำเนินการจะใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้ได้มีการเชิญสมาคม เทศบาล, อบต.,อบจ. มาหารือถึงคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้าม ส่วนกฎหมายอีก 5 ฉบับ เป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น การให้ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จริงจังกับเรื่องดังกล่าว จึงต้องแก้กฎหมายอีก 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกัน โดยการแก้ไข 6 ฉบับจะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาแค่ 1 เดือนก็สิ้นปี แล้วช่วงเวลาที่เหลือนี้จะใช้ในการฟังความคิดเห็น
เมื่อถามว่า หากกฎหมายผ่าน ครม. และเข้า สนช. แล้ว ทาง คสช. จะพิจารณาปลดล็อกเพื่อให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทาง คสช. จะเป็นผู้พิจารณาว่าเลือกตั้งประเภทใด และเลือกตั้งเมื่อใด โดยการประชุมเมื่อเช้าเราไม่ได้หารือกันเรื่องโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้เวทีอื่น
รองนายกฯ กล่าวว่า ยังมีประเด็นปัญหา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น โดยเราได้นำมาพิจารณาด้วย คือ
1.การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดูให้แน่ชัดว่า โครงสร้างท้องถิ่นเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งแล้ว หากว่า มีการปรับโครงสร้างใหม่ออกมา จะทำอย่างไร ตนคิดว่า โครงสร้าง อบต. น่าจะเกิดผลกระทบ ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต. คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่
2.สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นหลายๆคน มีชนักติดหลัง เพราะมาตรา 44 ในเรื่องนี้ ตนเห็นว่า ถ้าใครผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ควรจะคืนตำแหน่งเขาไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อ ว่าใครมีความผิด หรือติดเรื่องอะไรบ้าง หรือที่ยังคืนตำแหน่งไม่ได้เพราะอะไร แล้วจะชี้แจงให้รับทราบอีกที
3.หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริง พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงหรือได้หรือไม่ ระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ในประเด็นจะมีการหารืออีกทีว่า จะปลดล็อกให้หรือไม่อย่างไร เพราะยังมีเวลาพอสมควร
“เรารู้ปัญหาของแต่ละอัน ถ้าเลือกตั้งแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งงบประมาณและภาระของ กกต. ด้วย จากกรณีที่ กกต. สงสัยในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กกต. โดยทาง กรธ.. ได้ชี้แจงให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ไม่มีอะไรขัดแย้งกับกฎหมาย และไม่มีอะไรควรสงสัย เพราะตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ กกต. มีหน้าที่จัด และดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ กกต. จะมอบหมาย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับมาตรา 27 ซึ่ง กกต. อาจจะมอบหมายให้ อปท. หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้ ขอย้ำว่า ไม่ได้จำกัดอำนาจ กกต. ถึงอย่างไร กกต. ก็เป็นผู้จัดการ และสามารถเลือกได้ว่า จะให้ใครจัดการเลือกตั้ง หรือจะเป็นผู้จัดเองก็ได้
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญยังได้เขียนอีกว่า หากมีการทุจริตแจกใบเหลือง ใบแดง ถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ให้ กกต. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลฎีกา ถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ให้ กกต. ฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มอบอำนาจให้ใครเลย อย่างไร กกต. ก็ต้องตอบโจทย์อยู่ดี
เมื่อถามว่า หากมีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของ คสช. ปลดล็อก เพราะเขาเป็นผู้ล็อก แต่เลือกตั้งปีนี้ไม่ทัน เพรราะต้องแก้กฎหมายถึง6 ฉบับ
สำนักข่าววิหคนิวส์