“รสนา” แฉ “กรมศุลฯ” ยกเลิกเอกสารสำแดงการส่งออกเท็จของ “เชฟรอน” เพื่อทำลายหลักฐานเอาผิดผู้บริหาร พร้อมช่วยเชฟรอนไม่ให้โดนค่าปรับ ชี้ส่อแววสมคบคิดตั้งแต่ขั้นแรกที่ให้คำปรึกษาเปิดช่องหนีภาษี – ช่วยยื้อเวลา – ปล่อยปละให้สำแดงเอกสารเท็จต่อเนื่องหลายปี จี้นายกฯตรวจสอบด่วน เพราะเป็นขบวนการทุจริตอย่างมโหฬาร
วันนี้ (17 พ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “นายกฯรัฐมนตรีสมควรให้มีการตรวจสอบโดยเร่งด่วนว่า มีขบวนการสมคบคิดฉ้อโกงภาษีน้ำมันระหว่างข้าราชการกับบริษัทเอกชนหรือไม่”
มีข่าววงในว่ากรมศุลกากรยกเลิกใบขนที่สำแดงการส่งออกเป็นเท็จของบริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัด โดยอ้างว่าจะได้เรียกเก็บภาษีที่ได้ยกเว้นไป หากไม่ยกเลิกใบขนจะไม่สามารถเก็บภาษีได้นั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิด หรือมิฉะนั้นก็อาจจะตั้งใจทำลายหลักฐานเอกสารสำแดงเท็จเพื่อลบล้างความผิดของผู้บริหารและช่วยบริษัทเชฟรอน(ไทย)ไม่ต้องถูกปรับมากกว่า ใช่หรือไม่
การที่กรมศุลกากรอ้างว่าไม่ปรับบริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัดที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีน้ำมันที่ส่งไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ เพราะว่าบริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัดทำตามคำแนะนำของสำนักกฎหมายในกรมศุลกากร ซึ่งเป็นการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน จึงไม่ใช่ความผิดของบริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัด และเมื่อมีคำวินิจฉัยเป็นที่ยุติจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะต้องเสียภาษี บริษัทเชฟรอน(ไทย) ก็ยินยอมมาเสียภาษีแต่โดยดี
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และอาจเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดกันระหว่างข้าราชการและผู้บริหารในกรมศุลกากรกับบริษัทเอกชนในการฉ้อโกงภาษีของรัฐ หรือไม่ ท่านนายกฯจึงสมควรให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะเป็นการให้ท้ายคนทำผิดให้ลอยนวลโดยไม่ต้องรับผิดชอบ และอาจจะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้
ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตให้ท่านนายกฯโปรดพิจารณา ดังต่อไปนี้
1)เมื่อบริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัดหารือฝ่ายกฎหมายในกรมศุลกากร ในปี2554 ว่าการนำน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเกิน12ไมล์ทะเลถือเป็นการส่งออกที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่
ผู้บริหารในกรมศุลกากรก็อ้างว่าพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ไม่ได้นิยามเรื่องราชอาณาจักรไทยไว้ จึงให้ความเห็นว่าระยะที่เกิน12ไมล์ทะเล ถือเป็นนอกราชอาณาจักร การส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะที่อยู่เกิน12ไมล์ทะเล จึงเป็นนอกราชอาณาจักร ทั้งที่ระดับผู้บริหารในกรมศุลกากรสมควรรู้ว่า การจัดเก็บภาษีอากรกฎหมายศุลกากรบัญญัติให้ดูจากสินค้าที่จะนำเข้าหรือส่งออกเป็นหลักว่าตามกฎหมายเฉพาะของสินค้านั้นนิยามความหมายราชอาณาจักรไว้อย่างไร และหากดูพ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งบัญญัติชัดเจนว่าไหล่ทวีปถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรไทย และในมาตรา70 ก็ระบุว่าน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ไม่ยกเว้นภาษีให้
การตอบคำหารือของผู้บริหารเป็นการเปิดช่องให้เอกชนหรือไม่
2)บริษัทเชฟรอน (ไทย) จำกัดไม่เคยสำแดงเอกสารส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะเพื่อยกเว้นภาษีเลยระหว่างปี2554-2557 มีแต่สำแดงใบส่งออกไปยังเขตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่การสำแดงใบส่งออกไปเขตต่อเนื่อง บริษัทเชฟรอน(ไทย)ต้องนำน้ำมันปลอดภาษีไปขายให้เรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องเท่านั้น เพื่อไปจับปลานอกน่านน้ำไทย แต่บริษัทเชฟรอน(ไทย)กลับนำน้ำมันไปขายให้บริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิต(เชฟรอน สผ.)จำกัดเพื่อนำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ใช่หรือไม่
การสำแดงใบส่งออกของบริษัทเชฟรอน(ไทย) จึงเป็นเจตนาสำแดงใบส่งออกเป็นเท็จ ใช่หรือไม่
3)บริษัทเชฟรอน สผ.เมื่อซื้อน้ำมันจากบริษัทเชฟรอน(ไทย)มิได้แค่นำน้ำมันปลอดภาษีไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเท่านั้น แต่นำมาใช้ในเรือบริการ (Supply boat)ที่วิ่งรับส่งคนและอุปกรณ์ระหว่างฝั่งที่จังหวัดสงขลากับแท่นขุดเจาะในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นการนำน้ำมันเถื่อนมาใช้ในประเทศ ใช่หรือไม่
4)เรือบริการ8ลำของเชฟรอน สผ.ถูกจับได้ที่ด่านศุลกากรสงขลา พบน้ำมันเขียว1.6ล้านลิตร จึงถูกยึด และในที่สุดบริษัทเชฟรอน(แม่)ที่สหรัฐอเมริกายอมอนุมัติให้บริษัทเชฟรอน(ไทย) ทำเรื่องระงับคดีกับด่านศุลกากรสงขลาโดยยอมให้ยึดน้ำมันทั้งหมด 1.6 ล้านลิตรมูลค่า48ล้านบาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ใช่หรือไม่
5)หลังจากถูกยึดน้ำมันเถื่อนแล้ว ผู้บริหารในกรมศุลกากรจึงแนะนำให้บริษัทเชฟรอน(ไทย)กลับไปซื้อน้ำมันแบบการค้าชายฝั่งคือเสียภาษีไปก่อนระหว่างปี2557-2558 แต่พอต้นปี2558 บริษัทเชฟรอน(ไทย)ก็ทำหนังสือหารืออีกว่า ตกลงส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการค้าชายฝั่งหรือส่งออกกันแน่ และผ.อ สำนักกฎหมายอ้างว่าปฏิบัติราชการแทนอธิบดีก็ตอบข้อหารือว่าการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกที่ไม่ต้องเสียภาษี
ควรมีการตรวจสอบว่าผ.อ สำนักกฎหมายตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอน(ไทย)โดยมีอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีหรือไม่
6)บริษัทเชฟรอน (ไทย) กลับมาซื้อน้ำมันปลอดภาษีอีกครั้งตั้งแต่เมษายน 2558-ตุลาคม 2559 แต่เหตุใดบริษัทเชฟรอน(ไทย) ไม่เคยสำแดงใบส่งน้ำมันไปที่แท่นขุดเจาะ เพราะฝ่ายปฏิบัติรู้ว่าการส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี จึงต้องสำแดงใบส่งออกไปในที่ที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยครั้งหลัง บริษัทเชฟรอน(ไทย) เปลี่ยนมาสำแดงใบส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ระบุประเทศ จึงเป็นการจงใจอำพรางและเป็นการสำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จ ใช่หรือไม่
7)เหตุใดที่บริษัทเชฟรอน(ไทย)จึงยอมเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)บางส่วน แสดงว่ารับรู้อยู่แล้วว่าน้ำมันที่ใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการใช้ในประเทศที่ต้องเสียVAT ใช่หรือไม่
8)เหตุใดบริษัทปตท.สผ.และบริษัทสำรวจผลิตปิโตรเลียมอื่นจึงไม่ขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีในการนำน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะแบบเดียวกับบริษัทเชฟรอน(ไทย) ทั้งที่ปตท.ก็ทำการหารือเหมือนกัน การตอบข้อหารือของผู้บริหารในกรมศุลกากรไม่ใช่ข้อบังคับที่บริษัทเอกชนต้องปฏิบัติตาม เพราะคำตอบข้อหารือไม่ใช่ข้อบังคับตามกฎหมาย และกฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครองการตอบข้อหารือผิดๆของข้าราชการ และไม่คุ้มครองการปฏิบัติผิดกฎหมายของเอกชนที่อ้างว่ามาจากการเชื่อคำตอบข้อหารือแบบผิดกฎหมายด้วย ใช่หรือไม่
ดังนั้นข้ออ้างของกรมศุลกากรที่ไม่ปรับบริษัทเชฟรอน(ไทย)นั้น โดยอ้างว่าบริษัทเชฟรอนไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี แต่ทำไปเพราะเชื่อคำตอบข้อหารือของผู้บริหาร ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายต่างกัน จึงฟังไม่ขึ้น ใช่หรือไม่
การที่บริษัทเชฟรอน (ไทย)จำกัด มีความพยายามหลายครั้งที่จะหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีให้รัฐ แต่จำนนด้วยหลักฐาน จึงยอมมาจ่ายภาษีคืนให้ ไม่ใช่เป็นการกระทำด้วยความซื่อสัตย์แต่อย่างใด ใช่หรือไม่
การที่ผู้บริหารในกรมศุลกากรที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีให้รัฐตามกฎหมายโดยชอบนั้น กลับมีพฤติการณ์สนับสนุนเอกชนให้หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีรัฐ ทั้งการตอบข้อหารือผิดๆเพื่อเปิดช่องให้เอกชนใช้เป็นข้ออ้าง หรือยื้อเวลาไม่เก็บภาษีด้วยการส่งไปเรื่องไปให้กฤษฎีกาตีความครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่บริษัทเชฟรอนก็ไม่เคยสำแดงใบส่งออกไปแท่นขุดเจาะเพื่อขอยกเว้นภาษีแต่อย่างใด
นอกจากนี้มีการปล่อยปละละเลยให้เอกชนอำพรางด้วยการสำแดงเอกสารการส่งออกอันเป็นเท็จเพื่อยกเว้นภาษีมาตั้งแต่ปี 2554-2557 และอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยฝ่ายบริหารกรมศุลกากรปล่อยให้มีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ระงับยับยั้ง และไม่สนใจว่ารัฐต้องสูญเสียภาษีไปมากน้อยเพียงใด ใช่หรือไม่
หากไม่มีการขัดขืนของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ด่านศุลกากรจนเรื่องเเดงขึ้นมา รัฐจะสูญเสียรายได้อีกมหาศาลเพียงใด
ยิ่งกว่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดของฝ่ายบริหาร ที่ร่วมมือกับเอกชนฉ้อภาษีของรัฐ ถึงกับมีการยกเลิกใบขนที่เป็นหลักฐานสำคัญของการกระทำความผิดฐานสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จของบริษัทเชฟรอน(ไทย) เพื่อไม่ให้เชฟรอนต้องเสียค่าปรับ เงินเพิ่มให้รัฐ และเพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ต้องมีความผิดไปด้วย ใช่หรือไม่
เรื่องนี้จึงควรเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับขบวนการทุจริตโกงภาษี อย่างมโหฬารโดยการสมคบกันระหว่างข้าราชการกับบริษัทเอกชน ซึ่งนายกฯต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้ผ่านเลยไป ต้องมีการตรวจสอบเอาผิด เพื่อมิให้เกิดกรณีการฉ้อภาษีมหาศาลของรัฐแบบกรณีนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป
สำนักข่าววิหคนิวส์