22 พ.ย.60 ที่สภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้มีการเชิญนักการเมืองมาให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นในการจัดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นวันที่ 3 โดยวันนี้เป็นการเชิญ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
แนวหน้า – โดย นายเอนก กล่าวว่า จากการให้ข้อมูลของ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่างก็เห็นด้วยกับ 5 ประเด็น ในร่างแผนปฏิรูปและเห็นว่าควรจะเน้นเรื่องการสร้างสันติสุข เพราะถ้าทำสิ่งนี้ได้การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมก็จะตามมา ซึ่งเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เชิญมาทั้งหมดแล้ว ก็จะทำแผนปฏิรูป และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จก็จะมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน แม้ประชาชนอาจรู้สึกเบื่อ เพราะให้ความเห็นกับหน่วยงานต่างๆ มาแล้วก็ตาม แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็จะพยายามนำความเห็นมาเรียบเรียงเพื่อจัดทำเป็นแผน โดยทุกอย่างจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.61
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มองว่าข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้จะไปซ้ำกับของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เพราะข้อเสนอของ ปยป.ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสามัคคีและปรองดอง แต่ในส่วนของคณะกรรมการฯชุดนี้ จะเน้นว่าในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองว่าคุณอยากเห็นบ้านเมืองในวันข้างหน้าอย่างไร และถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาลมีความคิดในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองอย่างไร
ด้าน นายสุวัจน์ กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงได้ให้ข้อเสนอแนะกับคณะกรรมการฯ ใน 6 ประเด็น ได้แก่
1.ต้องสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างบรรยากาศที่จะดึงนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามา
2.ส่งเสริมบทบาทของพรรคการเมืองให้มีความเข็มแข็ง โดยพรรคการเมืองอนาคตควรเป็นพรรคขนาดกลางที่เหมาะสมกับโครงสร้างทางกาเรมืองที่เปลี่ยนไปในขณะนี้ เพื่อทำให้การเมืองไม่เกิดเดดล็อค
3.สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นโหวตเตอร์ที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อจะได้มาตัดสินใจในการเลือกผู้แทนที่ดีในขั้นตอนสุดท้าย
4.ร่วมสร้างวัฒนธรรทางการเมืองให้เกิดขึ้น ให้นักการเมืองมีสปิริตรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เหมือนกับต่างประเทศที่จะมีสปิริตยอมรับผิดชอบเมื่อทำผิด
5.แก้ไขปัญหาความขัดแย้งก่อนการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะแก้ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกพรรคการเมือจะมุ่งมั่น ตั้งใจร่วมมือแก้ปัญหา เพื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้ง และเคารพผลการเลือกตั้ง ไม่สร้างเขื่อนไขที่จะนำไปสู่เดดล็อคทางการเมืองและนำบ้านเมืองกลับสู่ความขัดแย้งอีก
6.การกระจายอำนาจ ทำอย่างไรที่จะให้ท้องถิ่นสามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่สร้างความมั่งคั่งให้กับท้องถิ่น เช่น อาจให้มีรายได้จากวิสาหกิจชุมชนเพิ่มจากที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี หรือเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นมากชึ้นเพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับโครงการภาครัฐ
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันเพื่อยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ นายสุวัจน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะแสดงความตั้งใจออกมาก็ได้ หรือถ้ามีเวทีแล้วให้แต่ละพรรค แต่ละคนไปแสดงเจตนาออกมาก็ได้ จะทำให้ประชาชนสบายใจและเกิดบรรยากาศที่ดี และลดความขัดแย้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
สำนักข่าววิหคนิวส์