อดีตโฆษกพันธมิตรฯ เตือน จนท.จับกุมแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา ส่อทำผิดกฎหมายเสียเอง ชี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะกำหนดโทษชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า แค่ปรับ 1 หมื่น ยังไม่ให้อำนาจ จนท.จับกุม ต้องให้ศาลกำหนดเวลาเลิกชุมนุมก่อน พร้อมย้ำเป็นชุมนุมสาธารณะ ใช้ พ.ร.บ.จราจรเอาผิดไม่ได้ และในเมื่อ จนท.ไม่ทำตามขั้นตอน จะอ้างผู้ชุมนุมทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
mgr- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรณีเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จะจับกุมผู้ชุมนุมแบบมั่วๆ ไม่ได้ ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าตำรวจได้จับกุมแกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้าทั้ง 15 คนนั้น ทั้งหมดถูกล่ามโซ่ และมีการไม่ให้ประกันตัวด้วยนั้น คำถามคือตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธาณะทำเช่นนี้ได้หรือไม่?
นายปานเทพระบุว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศใช้แล้ว ดังนั้นถ้าจะดำเนินการเอาผิดต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะลุแก่อำนาจไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุขั้นตอนชัดเจนว่ากว่าจะจับกุมได้นั้นจะต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัดเสียก่อน
ก่อนจะไปไกลเพื่อไล่เรียงรายละเอียดนั้น ขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า สมมติว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ได้มีการขออนุญาตตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ก่อน 24 ชั่วโมง บทลงโทษก็มีบัญญัติเอาไวในมาตรา 28 คือ “ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” เท่านั้น ไม่ใช่โทษจำคุกแต่ประการใด
และถึงแม้สมมติว่าจะเป็นการชุมนุมสาธาณะที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง กฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปจับกุมโดยทันที หากยังไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
ขั้นตอนที่ 1 หากเป็นกรณีการชุมนุมที่ไม่ได้มีการแจ้งเอาไว้ล่วงหน้าให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการชุมนุมสาธารณะมาตรา 14 เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องดำเนินการได้เพียงขั้นตอนตามมมาตรา 21 (1) เท่านั้น คือ “ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด” การประกาศดังกล่าวจะต้องดำเนินการด้วยการออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรเปิดเผยอย่างชัดเจน
ขั้นตอนที่ 2 หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิกการชุมนุม มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดเพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น “ซึ่งกฎหมายก็ยังไม่ให้มีการจับกุม”
ในระหว่างการ “รอ” คำสั่งศาลนี้เอง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ต้องถามว่ามีแล้วหรือยัง?)
แต่กฎหมายก็บัญญัติว่าแผนดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นไป “เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายังต้องคุ้มครองไม่ใช่เรื่องความสะดวกของประชาชนเท่านั้น แต่ต้องคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะด้วย ไม่ใช่จับกุมสลายการชุมนุมและเอาตัวไปเข้าคุก
ขั้นตอนที่ 3 ในมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 บัญญัติว่าศาลจังหวัดเมื่อได้รับคำขอให้มีคำสั่งแล้ว ศาลก็จะพิจารณาคำขอนั้นเป็นการด่วน ถ้าศาลเห็นว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจริง ศาลก็จะมีคำสั่งโดยออกคำบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
แสดงให้เห็นว่า “ศาลจะต้องเป็นผู้กำหนดระยะเวลาให้เลิกการชุมนุม” เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 4 อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมก็ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด แสดงให้เห็นว่าถึงขั้นตอนนี้ก็ยังมีเวลา และยังไปจับกุมผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่ดี
ขั้นตอนที่ 5 ในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ถ้าผู้ชุมนุมยังไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะรายงานให้ศาลทราบ หลังจากนั้นจึงจะสามารถประกาศกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื่นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด และรายงานรัฐมนตรีเพื่อทราบ
ขั้นตอนที่ 6 ในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 จากนั้นจึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์มีอำนาจในการ จับกุม ค้น ยึด อายัด ฯลฯ
แต่ (การชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา) ปรากฏว่ายังไม่ทันสิ้นสุดขั้นตอนที่ 2 เลย เจ้าหน้าที่ก็จับกุมผู้ชุมนุม ล่ามโซ่แกนนำทั้ง 16 คน เสียแล้ว!
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่เลือกดำเนินคดีความกับผู้ชุมนุมว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพราะย้ำอีกทีว่าการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง โทษสูงสุดคือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ใช่โทษจำคุกแต่ประการใด
ด้วยเหตุผลนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเลี่ยงการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่กลับไปดำเนินการ 3 ข้อหา คือ
1. ร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจร
2. ต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม
3. ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่
คำถามคือ กรณีการดำเนินคดีความเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องคัดค้านโรงไฟฟ้า ย่อมต้องตีความว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะใช่หรือไม่ เพราะมาตรา 4 ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะบัญญัติ 2558 บัญญัตินิยามเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “การชุมนุมสาธารณะ หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”
เมื่อเป็นการชุมุนุมสาธารณะ จึงจะมาใช้เรื่องกฎหมายจราจรได้อย่างไร เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความจำเพาะแยกออกจากการกีดขวางทางสาธารณะปกติทั่วไปด้วย
นอกจากนี้จะต้องตั้งคำถามว่า การต่อสู้ขัดขวางการจับกุมนั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายเสียเอง จนทำให้ประชาชนที่คัดค้านเสียสิทธิการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่?
เมื่อมีการจับกุมที่ถูกตั้งคำถามว่าได้ทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ต่อมาว่ามีการทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งทำตามหน้าที่นั้นมีจริงหรือไม่? ใครใน 15 คนที่ทำร้ายเจ้าพนักงาน และทั้ง 15 คนทำร้ายเจ้าพนักงาน จริงหรือไม่? และที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าทำตามหน้าที่นั้น ได้ทำตามกฎหมายแล้วหรือไม่? และเหตุการณ์ปะทะกันนั้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายเริ่มไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเสียเอง ใช่หรือไม่?