5 ธันวาคม 2560 วันชาติในประเทศไทย เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เดิมกำหนดเป็นวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 โดยเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481และเริ่มงานฉลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ในวันยึดอำนาจการปกครองจากรัชกาลที่ 7 ต่อมาใน พ.ศ. 2503 จึงเปลี่ยนไปเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย ตามอย่างประเทศราชาธิปไตยอื่น ๆ ปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
การประกาศ วันชาติ 24 มิถุนายน เกิดจาก การปฏิวัติสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือนดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น อันเป็นหลักในการยึดการปกครอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 มนตรี ตราโมท เป็นผู้แต่งเพลงประจำวันชาติของไทยขึ้น โดยให้ชื่อเพลงว่า วันชาติ 24 มิถุนายน อนึ่ง เมื่อวันดังกล่าวถูกยกเลิกในอีก 21 ปีต่อมา เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงที่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ใช้รำลึกวันเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายนเท่านั้น
วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ความว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่าง ๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไป นั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเด็น ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง
คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้”
โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2503
แม้ว่าการกำหนดวันสำคัญต่างๆ ของชาติและวันหยุดราชการจะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร,วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ และคณะรัฐมนตรี มีมติให้เป็นวันหยุดราชการ ตราบจนถึงปัจจุบัน
สำนักข่าววิหคนิวส์