หญิงสาวคนหนึ่งโบกรถแท็กซี่จากย่านราชเทวี เพื่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยอัธยาศัยที่ดีต่อกันระหว่างสารถีกับผู้โดยสาร บทสนทนาอย่างเป็นมิตรจึงบังเกิดขึ้น
“พี่จะเดินทางไปไหนหรือครับ”
“ไปเชียงรายค่ะ”
“ไปเที่ยวหรือครับ ช่วงนี้อากาศดี”
“ไปงานค่ะ”
“อู้ว งานอะไร หรือครับ ช่วงนี้ มีแต่คนเขาเที่ยวกัน อ๋อ พี่ทำงานที่ตึกที่ผมจอดรับใช่มั้ยครับ”
“ค่ะ”
“บริษัทนี้ เขาขายน้ำผลไม้ใช่มั้ยครับ ผมเคยเห็นในร้าน เซเว่น”
“ใช่คะ”
“เอ่อ น้ำที่ขายก็อร่อยนะครับ แต่เห็นไม่ค่อยเยอะ บางทีก็หาซื้อยาก”
“อ๋อ เราผลิตได้จำกัดค่ะ มีปัญหาด้านวัตถุดิบ. ต้องซื้อจากที่ปลูกในประเทศ ไม่นำเข้าแม้ว่าจะถูกกว่า. ชาวบ้านเขาปลูกได้น้อย เราก็มีวัตถุผลิตน้อยไปด้วย”
“เป็นผมนะครับ ผมจะจ้างชาวบ้านชาวเขาเหล่านี้มาเป็นลูกจ้างบริษัท จัดที่เพาะปลูกเป็นเรื่องเป็นราวไป. อยากได้วัตถุดิบเท่าไร ไม่เป็นปัญหา”. แท็กซี่เสนอแนะ ราวกับจบ MBA มา
“ไม่ได้หรอกค่ะ ขัดกับนโยบายของบริษัท ท่านอยากให้ชาวบ้านเขาอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ต้องมาเป็นลูกจ้าง หากวันนึงข้างหน้าบริษัทเราไม่อยู่ แล้วเค้าจะกินอะไรคะ”
“รู้สึกว่า น้ำของบริษัทพี่ ราคาออกจะสูงกว่าคู่แข่งด้วยนะ”
“เป็นนโยบายของบริษัทค่ะ ท่านบอกว่าต้องไม่กดราคาวัตถุดิบจากชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้กำไร หากชาวบ้านได้กำไร แต่บริษัทกำไรน้อยลงก็ไม่เป็นไร”
“อืมม บริษัทพี่แปลกๆนะ. เพิ่งเคยได้ยินใครทำธุรกิจแบบนี้”
“นี่ แล้วไปตั้งโรงงานถึงเชียงราย ค่าขนส่งมันไม่มหาศาลหรือ ขนน้ำเป็นกล่องมากรุงเทพ ค่าใช้จ่ายสูงนะ” แท็กซี่ ซักถามราวกับจะไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
“เราไม่ได้มีโรงงาน แค่เชียงรายนะคะ เรายังมีโรงงานบนเขาที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร ด้วย ท่านอยากให้ โรงงานของเราอยู่ใกล้ชิดกับชุมชุน ใกล้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีงานทำ เป็นนโยบายของท่านค่ะ”
“อื้มมม. แปลกมาก ท่านเจ้าของบริษัทของคุณ. ผมไม่เคยได้ยินนะ ที่ใครจะทำธุรกิจแบบนี้ ยอมกำไรน้อย ยอมลำบาก เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำ มีรายได้ มีความสุข”
ถึงสนามบิน. แท็กซี่ผู้ฉงนฉงายกับคำตอบที่ได้ระหว่างการสนทนา อดไม่ได้กับการหันมาถามคำถามสุดท้าย
“ขอโทษครับ ผมอยากรู้จริงๆ ท่านที่เป็นเจ้าของบริษัทคุณนี่ใครนะ ถึงเป็นคนดีขนาดนี้”
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่ะ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ให้นโยบายในการประกอบการของ ดอยคำ ค่ะ”
หญิงสาวตอบอย่างภาคภูมิใจ และลงจากรถด้วยรอยยิ้ม
สำนักข่าววิหคนิวส์