พลังชลโต้-ข่าวลือ ดีล”บิ๊กตู่” แลกพักโทษ”เป๊าะ”ยธ.ยันยึดเกณฑ์ มาร์คอัดแหลก “ปชต.ไทยนิยม” ทนายนปช.ยื่นจี้ คดีกบฏ”กปปส.”
พลังชลปัดเปิดดีลการเมือง หนุน”บิ๊กตู่”แลกพักโทษ”กำนันเป๊าะ” บอกข่าวลือก็คือข่าวลือ รองปลัดยธ.ยันพักโทษ ทำตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง เพื่อไทย-ปชป.รุมถล่มยับ”ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม” ชี้เป็นข้ออ้างผู้มีอำนาจ บิดเบือนเสียงประชาชน “มาร์ค”ซัดแบบนี้อย่าเรียกว่าประชาธิปไตย ทนาย”วิญญัติ” ยื่นจี้อัยการสูงสุดเร่งสั่งคดีกบฏ”กปปส.” ไอลอว์ ล่าหมื่นชื่อเรียกร้องยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. 35 ฉบับ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน-สื่อ
ยธ.โต้ข่าวตกลงลับ-พักโทษเป๊าะ
วันที่ 15 ม.ค. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกระแสข่าวพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม เจรจาทางลับกับนักการเมืองกลุ่มชลบุรี ขอให้สนับ สนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไข ทางคดีของนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะว่า กระทรวงยุติธรรมขอยืนยันว่า การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษนช.สมชายนั้น ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่นักโทษทุกคน มีสิทธิได้รับ โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น
นายธวัชชัยกล่าวว่า นช.สมชายต้องโทษอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ปัจจุบันเป็นผู้ป่วย ในของโรงพยาบาลตำรวจ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม กระทำผิดรวม 2 คดีซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 28 ปี 4 เดือน ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษรวม 3 ครั้ง คือ ปี 2558 และปี 2559 จำนวน 2 ครั้ง เหลือกำหนดโทษครั้งหลังสุด 10 ปี 18 เดือน 20 วัน ต้องโทษจำคุก มาแล้ว 4 ปี 9 เดือน 25 วัน เหลือโทษจำต่อไป 6 ปี 8 เดือน 25 วัน
รองปลัดยุติธรรมกล่าวว่า จะเห็นว่า นช. สมชายมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เป็นนักโทษเด็ดขาด ชั้นเยี่ยม ต้องจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งหลังสุด มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดและอาการอยู่ในระยะอันตรายอาจถึงแก่ความตาย โดยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และแพร่กระจายไปที่ปอดระยะที่ 4 ทำให้ปอดบวม บางครั้งหยุดหายใจต้องให้ออกซิเจน เพื่อช่วยหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องต้องเสียชีวิต
อยู่ระหว่างคุมประพฤติ 6 ปีเศษ
นายธวัชชัยกล่าวว่า คณะกรรมการจึงเห็นว่า อาการเจ็บป่วยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีแพทย์ของทางราชการ 2 คน รับรองอาการป่วย สภาพร่างกายไม่เอื้อต่อการกระทำผิดซ้ำ และมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบัน มีอายุ 80 ปี และอยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ประชุมคณะกรรมการพักการลงโทษ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 คณะกรรมการมีมติเห็นชอบพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษนช. สมชาย
นายธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560 รมว.ยุติธรรมได้อนุมัติพักการลงโทษกรณี มีเหตุพิเศษ โดยได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษจะไปพักอยู่กับ น.ส.จิราภรณ์ คุณปลื้ม ลูกสาวอายุ 49 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขการคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติจนกว่าจะพ้นโทษ ซึ่งมีระยะการคุมประพฤติ 6 ปี 8 เดือน 25 วัน ส่วนจำนวนครั้งหรือความถี่ในการรายงาน ตัวนั้นให้เป็นไปตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด
พลังชลชี้ข่าวลือก็คือข่าวลือ
นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวพล.อ.อ.ประจิน เจรจาทางลับกับกลุ่มชลบุรี ให้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีเงื่อนไขเรื่องคดีของนายสมชาย ว่าจนถึงขณะนี้พรรคพลังชลยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองหรือประชุมพรรค หรือเจรจากับใครได้ ทุกคนรู้อยู่ว่าต้องรอปลดล็อกอย่างเป็นทางการ ยืนยันพรรค ยังไม่มีการดำเนินการตามที่มีข่าว และการ จะทำอะไรโดยปกติถ้าเกี่ยวข้องกับพรรคต้องประชุมสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค ยืนยันว่ายังไม่ทำอะไรเลย วันนี้คนที่จะมาเจรจากับพรรคก็รู้ว่าขณะนี้สถานการณ์การเมือง ยังไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นไม่ว่ากับใครในหลักการ แล้วไม่มีการทำอะไรเพราะยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้การเมืองเข้าที่เข้าทางก่อน
เมื่อถามว่าคิดว่าข่าวดังกล่าวเกิดจากอะไร นายสุระกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตอะไร เป็นพิเศษและยังไม่ได้พูดคุยกับนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรค ข่าวลือก็คือข่าวลือ ยืนยันพรรคยังไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ การจะปล่อยข่าวหรือมีข่าวลือขอให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละคน ไม่รู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไรแต่เราพร้อมทำตามกติกา เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจทั้งในส่วนของพรรคและผู้ออกกติกา พรรคพลังชลจะไม่ไปก้าวล่วง และพร้อมให้ความร่วมมือให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้
พท.ชี้เจตนา”ปชต.ไทยนิยม”
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ระบุเราต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยนิยมว่า ไม่ทราบว่านายกฯตีความแบบไหน ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลคือการยอมรับในอำนาจของประชาชนเจ้าของประเทศ ประชาชน เป็นใหญ่ที่สุดและแสดงอำนาจโดยการเลือกนโยบายที่พรรคนำเสนอ เลือกพรรคหรือ กลุ่มที่อาสาเข้ามาว่าจะเอาคณะผู้นำแบบไหน มีวิสัยทัศน์อย่างไร มีวิธีนำพาประเทศไปสู่ความ เจริญได้อย่างไร ที่สำคัญคือเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด เคารพในความแตกต่าง ฟังเสียงข้างมากและเคารพในเสียงข้างน้อย
ที่พล.อ.ประยุทธ์ควรทำความเข้าใจคือหลักสากลนี้เป็นหลักที่คนทั้งประเทศได้พิสูจน์มาแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองการปกครองที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด ยอมรับในสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่มากที่สุด การพูดถึงการยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นหลักสากลแล้วพยายาม อธิบายว่าเป็นประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยที่เป็นแบบของพวกตัวเอง ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในโลกนี้มีแต่พวก เผด็จการและผู้พยายามได้อำนาจมาโดยวิธีพิเศษที่ใช้สิ่งนี้มาเป็นข้ออ้าง เพื่อกำหนดวิธีการปกครองแบบของตนเอง บิดเบือนเสียงของ ประชาชนหรืออำนาจของประชาชนในการคิด และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
จี้คสช.ใจกว้าง-คืนอำนาจปชช.
จึงบอกว่าประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ที่พูดขึ้นไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร หรือจะหมายความว่าประชาธิปไตยแบบที่ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ คิดเอง กำหนด ให้เอง มองให้เองว่าประเทศข้างหน้า 20 ปีควรจะเป็นอย่างไรอย่างที่ผู้มีอำนาจทำ แทนที่จะฟังความเห็นคนส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้คน ได้แสดงความเห็น ไม่ใช่ใครเห็นต่างก็เชิญเข้าค่ายไปอบรมหรือไปคุกคาม
คสช.ต้องใจกว้าง ถ้าคิดว่าตนเองมีความเป็นประชาธิปไตย เชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดที่ทำเป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ วันนี้อย่าคิดเองว่าประชาชนให้โอกาสหรือยอมรับแต่ควร คืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้ง แล้วให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจ ไม่ใช่ดึงทั้งหมดแล้วพยายาม สร้างกติกาที่ตนเองได้เปรียบ มีส.ว.250 คน เป็นอำนาจพิเศษ เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดทิศทางให้คนอื่นเดิน แล้วบอกทั้งหมดนี่คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยม อันนี้คือการสร้าง ประชาธิปไตยที่รองรับอำนาจของผู้มีอำนาจใน ปัจจุบัน
ประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของพล.อ. ประยุทธ์ คือเวลากลุ่มตัวเองทำอะไรผิดไม่ต้อง ไปพูดถึงหรือพยายามไม่เอ่ยถึง แต่คนอื่นทำไม่ถูก ทำไม่เหมือนฝ่ายตนก็ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน จึงไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการพยายามให้คนยอมรับในกติกาที่ตัวเองร่างขึ้นอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องยึดมั่นในระบอบสากลแต่เอาแบบไทยนิยมที่พวกตัวเองกำหนด ให้คน ปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
มาร์คสับ-อย่าใช้ปชต.ไทยนิยม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าประชาธิปไตย ไทยนิยมเป็นแบบใด ต้องระมัดระวังการใช้คำ ที่มีความหมายในตัวค่อนข้างชัด มีการไปแต่งเติมเงื่อนไขต่างๆ เป็นการใช้ถ้อยคำที่เที่ยงตรงหรือไม่ อย่างกรณีประชาธิปไตยที่เคร่งครัด ก็ต้องบอกว่าคือประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งมีหลักการพื้นฐานอยู่ ประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ความหมายคือประชาชนกำหนดทิศทางของบ้านเมืองได้ แต่ความเป็นไทยในประชาธิปไตยแบบไทยๆ อยู่ที่ไหน มีเรื่องอะไรที่เป็นแบบไทยๆ ตอนนี้บอกได้แบบเดียวว่าไม่เป็นสากลก็เลยเป็นไทย
ตนไม่เคยปฏิเสธว่าการปรับให้เข้ากับสังคม วัฒนธรรมมีความจำเป็น แต่คงไม่ใช่เอาเรื่องวัฒนธรรมหรือสังคมมาเป็นข้ออ้างที่จะยกเว้นไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของประชาธิป ไตย แต่ยังอยากใช้คำที่ดูเป็นเรื่องดีเป็นสากลแล้วอ้างว่าเป็นอย่างนั้น ความเป็นประชาธิปไตย คือหลังเลือกตั้ง ถ้าส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของคนที่มาจากการเลือกตั้งเขาจะจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควร ใช้อำนาจวุฒิสภาเพื่อฝืนเจตนารมณ์นั้น เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตยหรืออย่าไปใช้คำว่าประชา ธิปไตยแบบไทยนิยม
ต้องถามว่าความเป็นไทยของวุฒิสภา มีมากกว่าความเป็นไทยของการเลือกตั้งของคนไทยอย่างไร หากอ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญนิยมกับประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีรัฐธรรมนูญ สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคำว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่างน้อยยังมีความตรงไปตรงมายอมรับเป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่เพราะไม่ได้เป็น
ชี้สิทธิสนช.ยื่นตีความกม.ปปช.
นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณีสนช.อาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า การให้อยู่ต่อหรือไม่ของกรรมการ องค์กรอิสระต่างๆ ไม่มีมาตรฐาน ทุกอย่างกลายเป็นดุลพินิจของสนช. แต่เมื่อมีคนติดใจหากยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็คงสร้างความลำบากใจ กระอักกระอ่วนพอสมควร ศาลต้องคิดให้ตกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพราะมีคนในองค์กรมีส่วนได้ส่วนเสียพัวพันไปด้วย เรื่องการให้อยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ถ้ายึดหลักการมากกว่าตัวบุคคลจะพิจารณาได้ง่าย และคนที่เขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญน่าจะกำหนดหลักให้ชัดตั้งแต่เขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวถึงการเข้าชื่อเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ยกเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้ กรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อตามที่นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เสนอแนะว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด เป็นเพียงความเห็นของ สมาชิกสนช.บางส่วนที่เห็นว่าน่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ จะได้เป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะ คำวินิจฉัยในกรณีผู้การตรวจแผ่นดินไม่ครอบ คลุมไปถึงเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม
“ส่วนตัวเห็นว่าหากสังคมสงสัยแล้วสามารถ ทำให้ข้อสงสัยนั้นได้ข้อยุติก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย การทำงานของป.ป.ช.จะไม่ให้มีข้อครหาด้วย แต่ควรแก้ไขก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะได้เป็นที่ยอมรับและเดินหน้าต่อไปได้ โดยสมาชิกสนช.คงต้องพูดคุยกันเองและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนประธานสนช.จะเสนอร่าง กฎหมายให้นายกฯ สมาชิกจะยื่นผ่านประธานสนช.หรือดำเนินการเองได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเมื่อผ่าน 15 วันในขั้นตอนการโต้แย้ง แล้วประธานสนช.ต้องเสนอร่างให้นายกฯภายในกี่วัน ดังนั้นระหว่างนี้ถ้าสมาชิกสนช.ยังติดใจถือว่าเป็นสิทธิที่จะเข้าชื่อกันจำนวน 25 คนขึ้นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้” นายสุรชัยกล่าว
ชี้ปปช.อยู่คสช.พัง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถ้า ป.ป.ช.ชุดนี้อยู่ได้ คสช.ก็พังแน่ ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการป.ป.ช.ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พ.ร.บ.จะหักล้างหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธาน ป.ป.ช. สนช.ทำได้อย่างมากคือกำหนดใน พ.ร.บ.ให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้พ้นไปทันทีที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ แต่ให้รักษาการต่อไปจนกว่า จะมีชุดใหม่หรือมากกว่านั้น คือให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ชุดนี้อยู่จนครบวาระทั้งที่ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม การต่ออายุจึงขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน ปัญหาคือถ้าคสช.ทำสำเร็จ ตั้งรัฐบาลนายกฯคนนอกได้ ใครจะตรวจสอบรัฐบาลไม่ให้ทุจริต หากปล่อยให้ป.ป.ช.ชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไป ไม่แก้กฎหมายป.ป.ช.ให้ถูกต้อง คสช.เตรียมพังทั้งระบบได้เลย
ยกเทียบกรณีปปช.สอบ 40 ส.ส.
ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148(2) ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีสนช.ผ่านความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. แก้ไขบทเฉพาะกาลในมาตรา 185 ไม่รีเซ็ต กรรมการป.ป.ช.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 232 และยังกำหนดวาระการดำรง ตำแหน่งป.ป.ช. ออกไปเป็น 9 ปี ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 233 ที่กำหนดอายุกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เพียง 7 ปี มติผ่านร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 185 จึงน่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 232 และ 233