หากย้อนกลับไปถามผู้ที่มีบทบาทเคยยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบที่มานาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อคำชี้แจงของรองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า นาฬิกาทุกเรือน เพื่อนให้ยืนมาใส่และส่งคืนทั้งหมดแล้ว ด้วยเหตุผลคล้ายกันว่า การซื้อนาฬิกาจำเป็นต้องเลือกขนาดที่พอดีกับเจ้าของ ขณะที่การตรวจสอบทรัพย์สินของป.ป.ช.
ในอดีต ก็เคยมีคำชี้แจงจากผู้ถูกตรวจสอบคล้ายกันคือ ทรัพย์สินเป็นของเพื่อนและให้ยืมมาใช้ และถือเป็นคดีตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับบรรทัดฐานในการทำคดีลักษณะนี้ของป.ป.ช.
คดีที่ชัดเจนที่สุด คือ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2542 นายสุพจน์อ้างว่า นายเอนก จงเสถียร เพื่อนนักธุรกิจของภรรยา ให้ยืมใช้ รถยนต์ Volkwagen มูลค่า 2.9 ล้านบาท จึงไม่ได้ระบุรายการรถยนต์ไว้ในบัญชีทรัพย์สิน แต่หลัง ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีข้อมูลหลายอย่างไม่สัมพันธ์กัน เช่น การตรวจสอบพบว่า ผู้ยืม-ผู้ให้ยืม เพิ่งทำงานร่วมกันไม่ถึง 2 เดือน การให้ยืมสิ่งของมูลกว่าเกือบ 3 ล้านบาทจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ประกอบกับตรวจสอบพฤติการณ์การใช้ การซ่อม การเติมน้ำมันรถ และพยานแวดล้อมอื่นๆ จนพบและเชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงไม่น่าจะเป็นไปตามที่นายสุพจน์กล่าวอ้าง ทำให้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและส่งฟ้องตามกระบวนการ นายสุพจน์จึงถูกตัดสินจำคุก 10 เดือน ฐานปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นี่ถือเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้เห็นกระบวนการตรวจสอบและการทำงานของป.ป.ช.ในคดีลักษณะนี้
ส่วนคำชี้แจงที่มานาฬิกาของพล.อ.ประวิตรว่า เป็นของเพื่อนให้ยืนมาใส่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ออกแถลงการณ์ ไม่เชื่อ โดยระบุว่า นาฬิกาหรูแต่ละเรือนจะถูกทำมาให้พอดีกับข้อมือของผู้สั่งทำเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีการสลับกันใส่กับเพื่อนและขอให้ป.ป.ช.เรียกเจ้าของนาฬิกาทุกเรือนมาตรวจสอบว่านาฬิกาแต่ละเรือนเจ้าของที่ถูกอ้างถึงสามารถใส่นาฬิกาได้พอดีหรือไม่
สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาที่ให้ข้อมูลกับทีมข่าวพีพีทีวี ระบุว่า สายนาฬิกาแต่ละเรือนมีราคาสูงไม่แพ้หน้าปัดนาฬิกา ส่วนใหญ่ร้านนาฬิกาจะทำให้พอดีกับข้อมือของผู้ใส่ตั้งแต่ต้น ไม่นิยมปรับขนาดความยาวของสายไปมา เช่นเดียวกับนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ที่ไม่เชื่อคำชี้แจงของพล.อ.ประวิตร ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ขณะที่นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เรียกร้องป.ป.ช.เปิดข้อมูลการตรวจสอบคดีนี้ต่อประชาชน พร้อมเสนอให้ส่งคดีนี้ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณา ไม่ควรตีตกตั้งแต่ชั้นป.ป.ช. ป้องกันข้อครหาที่จะเกิดขึ้นตามมา
สำหรับคดีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ถูกต้องที่ผ่านมา มีนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงข้าราชการอย่างน้อย 324 คน ถูกศาลตัดสินให้จำคุกฐานแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ
Cr:pptv
สำนักข่าววิหคนิวส์