ไลฟ์สไตล์ » สุขภาพ » #จิตแพทย์ เตือนพ่อแม่เลี้ยงลูกระวังภาวะ ‘เด็กถูกเร่ง’

#จิตแพทย์ เตือนพ่อแม่เลี้ยงลูกระวังภาวะ ‘เด็กถูกเร่ง’

25 January 2018
505   0

หลังโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับเด็กที่ตกอยู่ในภาวะเด็กถูกเร่ง หรือ Hurried Child ภาวะที่ทำให้เด็กมีสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายย่ำแย่เพราะถูกผู้ปกครองผลักดันให้ทำกิจกรรมมากเกินไปและโตเกินวัย จนบางครั้งทำให้เด็กเกิดความเครียดหรือกดดัน

Sanook-โดย แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอมินบานเย็น” จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา โพสต์ อธิบายถึงภาวะเด็กถูกเร่งไว้ในเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ วอยซ์ออนไลน์ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยสรุปใจความดังนี้ เด็กยุคนี้ถูกเร่งให้เรียนและมีกิจกรรมนอกหลักสูตรมากมายจากลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เรียกว่า “ภาวะเด็กถูกเร่ง” หรือ Hurried Child โดยลักษณะของเด็กที่มีภาวะถูกเร่ง คือ เด็กที่ถูกเร่งให้เรียนเร็วโดยไม่พร้อม หรืออาจมีสติปัญญาพร้อมดูฉลาดจะเรียนได้ แต่เรียนมากเกินไปโดยไม่เหมาะสมวัย, เด็กที่พ่อแม่ส่งเสริมให้เรียนกิจกรรมนอกหลักสูตร, เด็กที่ต้องทำอะไรเหมือนผู้ใหญ่ก่อนวัย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้เด็กเครียด และเมื่อเด็กเครียดอาจไม่บอกว่าเครียดหรือไม่อยากบอกตรงๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่ชอบให้ทำ เพราะอยากได้รับการชื่นชมและพอใจ แม้เด็กจะไม่พูดตรงๆ แต่พวกเขาจะแสดงอาการที่บ่งบอกว่าเครียดและกดดัน แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือ เมื่อเด็กเครียดจะไม่เหมือนผู้ใหญ่เครียด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะพวกเขายังมีปัญหาเรื่องภาษาที่ยังไม่แข็งแรงพอจะบรรยายความรู้สึกได้

ดังนั้นเด็กจะแสดงออกว่าเครียดหรือกดดันทางกาย, อารมณ์ และพฤติกรรมแทนเช่น ปวดหัว, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, หงุดหงิดง่าย, ร้องไห้งอแง, ดื้อ, ต่อต้านและซนมาก เด็กบางคนจะเลิกสนใจอะไรที่เคยชอบ บางรายไม่อยากไปโรงเรียนทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีพฤติกรรมนี้ บางคนพูดโกหกมากขึ้น มีพฤติกรรมถดถอยพึ่งพาพ่อแม่มากขึ้น และถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจจะยิ่งไปตำหนิหรือดุ เด็กจะยิ่งเครียดซึ่งอาจนำไปสู่โรควิตกกังวล ซึมเศร้า ส่งผลต่อการสูญเสียคุณค่า สูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเองไปได้

วิธีแก้ไขภาวะเด็กถูกเร่ง เริ่มต้นจากพ่อแม่ต้องมีสติในความรักที่มีให้ลูก การรักและหวังดีกับลูก อยากให้ลูกได้แต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าดีอาจไม่เหมาะกับลูกก็ได้ จึงควรให้ความพอดีสมดุลระหว่างการเรียนหรือกิจกรรมนอกหลักสูตร และการใช้ลูกมีอิสระในการเลือกที่จะทำให้สิ่งที่ชอบเพราะการให้เด็กมีเวลาทำ เล่น ในสิ่งที่สนใจจะทำให้เกิดจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ และทำให้อารมณ์ดีโดยเฉพาะการเล่นอิสระ

พ่อแม่ควรสนับสนุน ให้กำลังใจอย่าไปกดดัน เพราะจะยิ่งทำให้เด็กเครียด โดยเฉพาะเรื่องเรียน หากเขารู้สึกเหนื่อย ไม่อยากทำ ไม่สนใจ อาจมีความกังวลท้อแท้ บางครั้งพ่อแม่ควรให้ลูกได้หยุดพัก และอย่าลืมที่จะแสดงความชื่นชมให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กทำ บรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลายในระดับหนึ่งโดยเฉพาะกับเด็กเล็กจะทำให้เขาทำได้ดี เมื่อเป็นเรื่องที่สนุกสนาน แล้วเมื่อเขาโตขึ้นจะค่อยพัฒนาและฝึกหัดรับความเครียดที่มากขึ้นเอง

สำนักข่าววิหคนิวส์