ไลฟ์สไตล์ » ผู้หญิง » #4 วิธีทำโทษ เมื่อลูกรักทำผิดแบบใช้ได้ผล

#4 วิธีทำโทษ เมื่อลูกรักทำผิดแบบใช้ได้ผล

5 March 2018
590   0

เพราะวัยเด็กคือ วัยแห่งการเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจมากที่สุด นอกจากความปลอดภัยของพวกเขาแล้วก็คือ การให้บทเรียนแก่พวกเขาในเวลาที่ทำผิด เชื่อว่าพ่อแม่หลายๆ คนต้องมีความกังวลถึงการลงโทษลูกอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ต้องการให้เกิดการปลูกฝังความรุนแรง

Sanook-วันนี้เรามีวิธีทำโทษลูกเมื่อทำผิดที่ใช้ได้ผล และยังช่วยให้เขาเรียนรู้ในความผิดที่ทำแบบไม่รุนแรงมาฝากแล้วค่ะ

1.Time Out

วิธีนี้คือ เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ควรพาพวกเขาไปในที่เงียบๆ ที่ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ ทั้งนี้เพื่อให้เขาได้ทบทวนการกระทำของตัวเอง ซึ่งระยะเวลาที่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว เพื่อทบทวนความผิดของตัวเองนั้นขึ้นอยู่กับอายุของเขา เช่น 1 นาที ต่อ 1 ขวบ หรือจนกว่าลูกจะสงบสติอารมณ์ตัวเองได้ วิธีนี้ดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ได้ง่ายกับเด็กทุกคน แต่รับรองว่าสามารถช่วยให้ลูกได้รู้จักควบคุมตัวเองได้ดี และยังยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้นอีกด้วย

2.พ่อแม่ควรสอนด้วยเหตุผล

เราอาจจะคุ้นเคยกับบรรยากาศที่พ่อแม่ชอบบ่นด่าลูกด้วยคำพูดเสียงดังและไม่สุภาพ เมื่อใดที่ลูกตัวเองทำผิด แต่การใช้วิธีแบบนี้จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กกลายเป็นเด็กก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น ดังนั้นควรสอนและตักเตือนด้วยเหตุผล ควรบอกพวกเขาให้รู้ว่าทำไมสิ่งที่พวกเขาทำลงไปถึงผิด ผิดอย่างไร แล้วต้องแก้ไขอย่างไร การตักเตือนลูกด้วยวาจาที่สุภาพและมีเหตุผลประกอบ ควรมาพร้อมการให้คำแนะนำที่ดี เพื่อให้พวกเขาได้ปรับปรุงตัวเองในวันต่อไป และที่สำคัญลูกๆ จะสัมผัสได้ว่าการตักเตือนของพ่อแม่คือ การมอบความรักและความหวังดี ไม่ใช่เพราะพ่อแม่โกรธลูก

3.ควรส่งสัญญาณก่อนใช้บทลงโทษสุดท้าย

เมื่อใดที่เห็นลูกทำผิด แล้วทำการตักเตือนด้วยเหตุผลเรียบร้อยแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นลูกก็ยังดื้อและทำผิดอีกครั้ง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ไม่ใช่การลงมือตีลูกทันที แต่ควรที่จะส่งสัญญาณเตือนสุดท้ายก่อนถึงบทลงโทษที่หนักที่สุดนั่นก็คือ การตี การส่งสัญญาณนี้พ่อแม่อาจจะใช้น้ำเสียงที่เข้มขึ้น ไม่ใช่การแสดงออกถึงความใจร้าย แต่คือ การบอกให้ลูกรู้ว่าควรหยุดและแก้ตัว ก่อนที่จะถูกลงโทษด้วยวิธีที่หนักที่สุด

4.บทลงโทษสุดท้ายคือ การตี

การตี ถือเป็นความรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอให้เป็นบทลงโทษสุดท้ายสำหรับพ่อแม่ทุกคน บางคนอาจจะจำเป็นต้องใช้บทลงโทษนี้ เพราะฤทธิ์ความซนและความดื้อของลูกที่ทำผิดแล้วยังไม่ยอมปรับปรุงตัว หากพ่อแม่จำเป็นต้องใช้บทลงโทษนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ห้ามตีลูกพร่ำเพรื่อ อย่าใช้อารมณ์ในการตี อย่าใช้อุปกรณ์ที่ส่งผลเสียต่อจิตใจลูก และอย่าตีลูกต่อหน้าคนอื่น

การลงโทษลูกไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป หากเป็นการลงโทษเพื่อให้เขาเป็นคนที่ดี รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปคือ สิ่งไม่ดีและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นและตัวเอง อย่างน้อยๆ ยังดีกว่าการปล่อยปละละเลย แม้ว่าลูกจะทำผิดหนักแค่ไหนก็ตาม เพราะนั่นถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่กำลังรังแกลูกนั่นเอง

สำนักข่าววิหคนิวส์