อัยการภาค 7 ตีกลับสำนวน “เปรมชัย” สั่งตำรวจกลับไปสอบเพิ่มรอบ 2 ย้ำถ้าไม่พร้อมก็ส่งฟ้องไม่ได้ ด้าน “ปรเมศวร์” เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาเตือนระวังปม “พนักงานสอบสวน” ไร้อำนาจ ชี้ที่ผ่านมาศาลยกฟ้องมาเยอะ ถามตกม้าตายแล้วใครจะรับผิดชอบ
วันที่ 24 มีนาคม นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาสำนวนคดีที่ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี รวมทั้งหมด 9 ข้อหาว่า หลังจากพนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมมาให้คณะทำงานอัยการพิจารณา ตามคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมในบางประเด็นเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา
อัยการตีกลับรอบ2สำนวนคดี“เปรมชัย”
ทั้งนี้คณะทำงานอัยการได้ตรวจสอบผลการสอบสวนพยานเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิดังกล่าวแล้ว พบว่า ยังคงไม่ครบถ้วนและยังขาดในบางประเด็นตามที่ได้สั่งการไป แต่ก็ขาดอีกไม่มาก ดังนั้นจึงได้ประสานให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยในวันที่ 26 มีนาคม คณะทำงานอัยการนำจะสำนวนที่สอบสวนเพิ่มเติมมาประชุมหารืออีกครั้ง ก่อนจะรายงานให้ทราบต่อไป
ย้ำสำนวนไม่พร้อมจะปล่อยผ่านไม่ได้
นางสมศรี กล่าวว่า การที่อัยการจะพิจารณาสั่งคดีใดนั้น ต้องพิจารณาสำนวนให้มีความละเอียด รอบคอบ เพราะอัยการ ต้องไปขึ้นศาล นำสำนวนไปยื่นฟ้อง หากสำนวนไม่พร้อมหรือไม่เรียบร้อยจะปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้
เตือนปมอำนาจพนักงานสอบสวน
วันเดียวกัน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ได้ออกมาชี้แจงกรณีเคยตั้งข้อสงสัยว่า ใครกันแน่ที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีของ นายเปรมชัย และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เข้าไปทำอะไร
แฟ้มภาพ
โดย นายปรเมศวร์” ระบุว่า เหตุที่ต้องถามว่า “ท่านมีอำนาจสอบสวนหรือไม่” ก็เพราะการสอบสวนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “พนักงานอัยการ” มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ หากผู้สอบสวนมิใช่ “พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ” แล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา-ชี้ยกฟ้องมาเยอะ
นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีคำพิพากษาฎีกาในเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่น คดีบุกรุกป่าไม้ของ สภ.อ.ไทยเจริญกับ สภ.อ.เลิกนกทา หรือคดีพรากผู้เยาว์และล่วงละเมิดทางเพศของ สภ.อ.ท่ามะกา กับ สน.บางพลัด หรือคดียาเสพติดของ สน.ท่าข้าม กับ สน.แสมดำ ดูซิครับ ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะการสอบสวนที่กระทำโดย “พนักงานสอบสวน” ที่ไม่มีอำนาจ โดยผู้ที่ทำงานด้านการสอบสวน หรือ จะสอบเนติฯสัปดาห์หน้า ให้ไปลองศึกษาเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2531, 6142/2548, 12934/2553, 4337/2554, 11585/2557 ดู
ถามถ้าตกม้าตายแล้วใครจะรับผิดชอบ
“ที่ผมถามนั้นก็เพียงการการเตือนกันครับ การทำงานด้านกฎหมายต้องรู้กฎหมายจริงๆ ยิ่งทำคดีที่ผู้ต้องหาที่เงินมาก มีอำนาจ เชื่อเถอะทีมทนายเขาก็ต้องเก่งประมาทไม่ได้ เพราะ “อัยการ” มีหน้าที่รับผิดฟ้องให้คนผิดต้องได้รับโทษ หากปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ ศาลก็จะไม่พิจารณาข้อเท็จจริงว่าเขากระทำการอันเป็นความผิดหรือไม่ ถ้าตกม้าตายเพราะเรื่องนี้ใครจะรับผิดชอบ อย่าบอกว่าคนละหน่วยงาน ไม่ก้าวก่ายกัน คิดอย่างนี้มันคับแคบต่อการอำนวยคามยุติธรรมของประเทศเกินไปครับ” นายปรเมศวร์ กล่าว
Cr.naewna
สำนักข่าววิหคนิวส์