รมว.สธ. ชี้ “กัญชา” คือ สมุนไพร หนุนใช้ทางการแพทย์ แต่ต้องปรับ กม. ยาเสพติด เล็งตั้งคณะทำงานด้านกัญชาขับเคลื่อนให้คนไทยใช้อย่างปลอดภัย ด้าน คกก. ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข มอบ “หมอธีระวัฒน์” ศึกษาข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อภ. เตรียมวิจัยพัฒนาสายพันธุ์และการทำสารสกัด ลั่น 60 วัน โครงร่างวิจัยต้องแล้วเสร็จ
จากกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เสนอให้รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เนื่องจาก “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ห้ามเสพ ทำให้แม้จะวิจัยทางการแพทย์ได้ ก็ไม่สามารถนำมาทดลองในมนุษย์ได้
วันนี้ (4 เม.ย.) MGR- นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกัญชาทางการแพทย์ ว่า ตนมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับความคิดใหม่ สิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทย วงการแพทย์ และงานวิจัย ก็ควรจะทำ ซึ่งกัญชาเห็นภาพชัดว่าความจริงก็เหมือนสมุนไพร เพียงแต่มีกฎหมายบางส่วนครอบเอาไว้ว่า เป็นพืชที่ต้องจำกัด เนื่องจากเป็นสารเสพติด จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้ปลูกในที่จำกัด สามารถเอากัญชาไปใช้ในการทดลองเพื่อการรักษาพยาบาล และเมื่อสกัดออกมาแล้วสามารถทดลองในคนได้ ให้ครบวงจร ซึ่งคิดว่าคนไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มีการปรึกษาภายใน สธ. ว่า จะตั้งเป็นคณะทำงานในเรื่องนี้ โดยมีนักวิชาการหลายๆ ส่วน ทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ นักวิชาการ มาหารือกันว่า จะทำอย่างไรที่จะบรรลุว่า คนไทยจะสามารถนำกัญชามาใช้อย่างปลอดภัย และนำไปวิเคราะห์วิจัยให้เกิดเป็นยาที่จะนำประโยชน์กลับมาสู่ประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นยาใช้รักษามะเร็ง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งจะมีผลในเร็ววัน
เมื่อถามถึงประธานคณะทำงานควรเป็นบุคคลใด นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนดูที่ความเหมาะสมของบุคคล ซึ่งขณะนี้มองว่า นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เพราะว่าท่านเป็นประธานบอร์ด อภ. แต่เพราะท่านนำทีมไปดูงานเรื่องกัญชาที่ประเทศแคนาดาเรียบร้อยแล้ว ศึกษาผลกระทบของกัญชาในประเทศต่างๆ และเคยบริหารงานใน สธ. ซึ่งเคยเป็นปลัด สธ. มาก่อน จึงอยากให้ท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้ และมีคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ เพื่อขยายผล อาจต้องปรับบเปลี่ยนกฎหมายในบางส่วน เพื่อทำให้สิ่งที่เราน่าจะทำได้เกิดขึ้น
ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่องของกัญชา คงต้องไปศึกษาของประเทศอื่นก่อนว่าดำเนินการอย่างไร อย่างที่ไปดูงานที่ประเทศแคนาดามาก็พบว่า ทางโลกตะวันตกมีทั้งนำกัญชามาใช้ทางด้านผ่อนคลาย และนำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนประเทศไทยคิดว่าคงใช้ทางการแพทย์เป็นหลักอย่างเดียว ไม่มีเรื่องผ่อนคลาย โดยประเด็นแรกคือ นักวิชาการต้องช่วยศึกษาว่า มีข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างไร อย่างแพทย์แผนไทยมีตำรับอยู่แล้ว ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันก็มองเรื่องกลุ่มโรคต่างๆ เช่น ลมชัก โรคทางสมองอย่างพาร์กินสัน ซึ่งมีข้อมูลว่าสามารถช่วยควบคุมได้ หรืออย่างมะเร็ง ทั้งเรื่องของการลดการเจ็บปวดจากมะเร็งในระยะสุดท้ายและการฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือโรคเจ็บป่วยเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งบางโรคนั้นเจ็บปวดมากต้องใช้มอร์ฟีน ก็ต้องมาเปรียบเทียบเรื่องอันตราย ซึ่งกัญชาคงน้อยกว่ามอร์ฟีน ก็ต้องมาปรึกษาหารือกัน โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขก็มีการหารือกันในเรื่องนี้ ก็มอบให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ช่วยเป็นคณะกรรมการศึกษาทางด้านวิชาการของกัญชามีบทบาทแค่ไหนอย่างไร
นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 คือ เมื่อทางการแพทย์มีข้อบ่งชี้ก็ต้องไปพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งแม้เราจะมีพันธุ์กัญชาที่ดีอยู่แล้ว ก็ต้องพัฒนา เพราะประเทศอื่นพัฒนาสายพันธุ์ไปมากแล้ว ซึ่งทางด้านเกษตรคงมีส่วนช่วยได้ และต้องมีระบบในการปลูกอย่างไร ซึ่งต้นทุนการผลิตน่าจะถูกกว่าเมืองหนาว เพราะกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน ประเด็นที่ 3 คือ ต้องพัฒนาเรื่องการทำสารสกัด ซึ่งต่างประเทศจะสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Extraction) แต่ประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้เอทานอล ก็ต้องพัฒนาวิธีทำสารสกัด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องไปคุยใน อภ. ว่า อภ. น่าจะศึกษาวิจัยเรื่องการปลูก คัดเลือกสายพันธุ์ร่วมกับผู้รู้อื่นๆ ทำจนเป็นสารสกัดออกมา และประเด็นที่ 4 คือ การควบคุมไม่ให้รั่วไหล ซึ่งก็มีระบบควบคุมอย่างมอร์ฟีนที่นำมาใช้เป็นยา ซึ่งตรงนี้ อย. และ ป.ป.ส. ต้องช่วยกันดู
“กฎหมายยาเสพติดขณะนี้ แบ่งยาเสพติดเป็น 5 ประเภท โดยประเภท 2 เช่น ฝิ่น หรือ มอร์ฟีน สามารถใช้เป็นยาได้ ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และเป็นไปตามรัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ประเภท 5 คือ กัญชา และกระท่อม ระบุชัดว่าห้ามเสพ ทำให้ไม่สามารถนำมาศึกษาวิจัยในคนได้ ทำให้การวิจัยเกี่ยวกับกัญชาในขณะนี้ทำได้แค่การปลูก การทำสารสกัด การวิจัยในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งที่อธิการฯ ม.รังสิต เสนอ ม.44 ปลดล็อกก็คงเป็นประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม ก.ยุติธรรม และ อย. ก็พยายามแก้กฎหมายใหม่ คือ ประมวลกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งคงจะปลดล็อกในเรื่องนี้ แต่จะเสร็จสิ้นเมื่อไรยังไม่ทราบ” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากดูข้อบ่งชี้ทางการแพทย์แล้ว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ยังมอบให้ นพ.ปิยะ หาญวรรงค์ชัย และ นายสมชัย จิตสุชน ช่วยประเมินความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ จากการนำกัญชามาทำเป็นยารักษาทั้งโรคที่มียาอยู่แล้วและไม่มียารักษาว่าเป็นอย่างไร และ มอบให้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประเมินผลกระทบด้านสังคมวัฒนธรรม ส่วนด้าน อภ.เองก็ต้องเตรียมเรื่องพัฒนาสายพันธุ์การปลูก และการสกัดไปด้วย ระหว่างที่กฎหมายยังไม่ปลดล็อก โดยตนได้มอบหมายให้ไปร่างโครงงานวิจัยซึ่งต้องเรียบร้อยภายใน 60 วัน ซึ่งโครงร่างวิจัยนั้นต้องเสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณา ถ้าผ่านรัฐมนตรีลงนาม ก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยได้
สำนักข่าววิหคนิ