พิธีซัดน้ำ เป็นวัฒนธรรมประเพณีแต่งงานในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นต้นแบบพิธีรดน้ำสังข์ในปัจจุบัน เปรียบเสมือนเป็นการอวยพรให้บ่าวสาวครองชีวิตรักอย่างร่มเย็นเป็นสุข ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว
พิธีซัดน้ำ จะมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี โดยจะเริ่มในเวลาบ่ายของวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่งเว้นระยะห่างกัน และล้อมรอบด้วยบรรดาเหล่าเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาว พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี เป็นผู้นำมงคลสวมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เมื่อพระสงฆ์ให้ศีลสวดมนต์ถึงบทชยันโต ก็ตีฆ้องชัย พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและกลุ่มเพื่อนที่นั่งห้อมล้อม จนน้ำหมดบาตรจึงหยุด หรือพอเจ้าบ่าวเจ้าสาวขยับเข้าไปนั่งใกล้กันจึงหยุด จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยกบาตรน้ำมนต์เทรดบ่าวสาวคนละครั้ง คนรดสุดท้ายเมื่อเทรดหมดบาตรแล้วก็เอาบาตรครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง เมื่อเสร็จพิธีเจ้าบ่าวเจ้าสาวจึงกลับเข้าห้องผลัดเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม
พิธีซัดน้ำ มีพรรณนาไว้ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม และตอนแต่งงานพระไวยกับนางศรีมาลาอีกด้วย
นอกจากนี้พิธีแต่งงานของชาวอินเดีย ก็มีการรดน้ำคล้ายของเรา โดยอธิบายว่าน้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในพิธีแต่งงาน บ่าวสาวต้องเข้าพิธีอาบน้ำสนานกาย ให้กายบริสุทธิ์เสียก่อนจึงจะดำเนินพิธีอย่างอื่นต่อไปได้
ดังนั้นพิธีซัดน้ำในงานแต่งงานของไทย จึงน่าจะเป็นเรื่องทำตนให้สะอาดก่อนเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น ที่ใช้น้ำมนต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินอัปรีย์จัญไรให้หมดไป การรดน้ำจึงเป็นเพียงการเริ่มต้นพิธีเท่านั้น ไม่ใช่ตัวพิธีแต่งงานอย่างปัจจุบัน
การซัดน้ำตามประเพณีโบราณ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เพราะการซัดน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากเปียกเปื้อน จึงเปลี่ยนมารดที่ศีรษะอย่างเดียว ต่อมาเห็นว่าการรดที่ศีรษะทำให้ผมเจ้าสาวเสียทรงที่ตกแต่งไว้ จึงเลื่อนมารดที่มือนิดหนึ่ง ด้วยสังข์บรรจุน้ำมนต์ เพื่อให้คล้ายคลึงกับพิธีดั้งเดิม
cr:โบราณนานมา
สำนักข่าววิหคนิวส์