สกู๊ปข่าว » #ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน:เพียงย่อหน้าเดียวของพระราชโองการนี้ก็ถือว่าจบ

#ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน:เพียงย่อหน้าเดียวของพระราชโองการนี้ก็ถือว่าจบ

11 February 2019
1120   0

10 ก.พ.2562 – ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเนื้อหาว่า ผมถูกตั้งคำถามโดยคุณ(นามแฝงยาวหน่อย) “จะหน้าหนาวรึหน้าไหน ก็ไม่ดีต่อใจเท่าหน้าคุณ ฮิ้ว ฮิ้ว” ความว่า “ผมขออนุญาตหน่อยนะครับ ในโพสต์มีคำถามช่องคอมเม้นท์ของเพจข่าวนี้ครับ ช่วยไขข้อข้องใจให้สังคมได้รับทราบด้วยครับ ด้วยความเคารพครับผม เกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งทางการเมืองของเชื้อพระวงศ์ครับ”

ถึงนามนั้นจะโลดโผน แต่ภาษาสำนวนที่สุภาพ ผมควรจะตอบ เผอิญว่าชักจะเห็นประเด็นของปุจฉาเดียวกันนี้บ่อยครั้งขึ้นในหน้าเว็บอื่นๆด้วย ก็คงจะขอตอบเท่าที่ภูมิปัญญาจะมี

ผมตระหนักดีว่าคำตอบของผมอาจจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นเพื่อที่จะสงวนโพสต์ที่ผมลงไว้เดิมมิให้แปดเปื้อนด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือเป็นเชื้อทะเลาะที่อาจเกิดขึ้น ผมจึงขอย้ายมาตอบที่นี่ และขอสงวนสิทธิ์ที่จะลบความเห็นที่ไม่สร้างสรรออกไป เพื่อสร้างบรรยากาศของเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองที่ดีสำหรับอารยชนผู้มีความเห็นต่าง

ต้นตอของปุจฉามาจากบทความของสำนักข่าวอิศรา บทความเต็มๆผมโยงมาให้แล้ว ส่วนประเด็นสำคัญที่เปิดช่องให้โต้แย้งคือ พรรคไทยรักษาชาติอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่มีบทบัญญัติที่ห้ามไว้ ในขณะที่ผู้เขียนบทความอ้าง “จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่ยึดถือมาโดยตลอดนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ตามบัญญัติไว้ ในมาตรา 11 ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่อๆมา จะไม่ได้มีการบัญญัติเนื้อความดังกล่าวเอาไว้ก็ตาม แต่ในทางวิชาการกฎหมายสามารถตีความได้ว่าหลักการนี้ก็ยังคงอยู่ เพราะถูกยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อๆกันมา”

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนก็ยกรายพระนามเหล่านี้ถึงมาแสดงทันทีว่าทรงมีตำแหน่งทางการเมืองในอดีตระหว่างนั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 3 สมัย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หม่อมเจ้าเฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต อดีตสมาชิกวุฒิสภา เจอลูกนี้เข้าไป กองเชียรของสำนักข่าวอิศราจึงแท็กระโยงมาให้ผมตอบ ผมตื่นขึ้นมาโดนเผือกร้อนเข้าไปเต็มๆ

ขณะที่ยังมึนๆอยู่ สิ่งที่พึงกระทำก็คือ ย้อนกลับไปอ่านพระราชโองการอีกครั้ง ก็ชัดเจนตามที่เข้าใจ ไม่มีถ้อยความใดที่ทรงอ้างรัฐธรรมนูญในประเด็นข้างต้นแม้น้อย คราวนี้เอาตามความเข้าใจของผมบ้าง

จริงอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีมาตราที่กำหนดห้ามเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามนั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมามาตราดังกล่าวนี้หายไป จึงปรากฏรายพระนามของเจ้านายที่ระบุในตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ อนึ่ง หากพิจารณาว่าฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายเหล่านี้ล้วนมีพระกำเนิดชั้นหม่อมเจ้า(มีสององค์ได้ยกเป็นพระองค์เจ้าในภายหลัง) ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงซึ่งหากแปดเปื้อนทางการเมืองแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงไม่มีผู้ใดสนใจจะยกขึ้นมาเป็นประเด็นคัดค้าน

ต่างจากกรณีที่เกิดปัจจุบัน

“ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล โดยได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นที่รักใคร่ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ตลอดจนเป็นที่เคารพยกย่องของพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์และประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยในการดำรงพระองค์และการประกอบพระกรณียกิจต่างๆนั้น ทรงปฏิบัติด้วยการถวายงานของข้าราชการในพระองค์ และหน่วยราชการต่าง ๆ ของหน่วยราชการในพระองค์ตลอดมา การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”

คือถ้าเป็นชาวบ้าน ปัญหาความขัดแย้งนี้ถือเป็นเรื่องของพี่น้องในครอบครัว ซึ่งหัวหน้าครอบครัวมีสิทธิ์ที่จะห้ามสมาชิกคนใด กระทำการที่อาจจะนำความเสื่อมเสียมาถึงวงศ์ตระกูลได้ ส่วนผู้ถูกห้ามจะเชื่อหรือไม่นั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง

สำหรับผม เพียงย่อหน้าเดียวของพระราชโองการนี้ก็ถือว่าจบ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาความในย่อหน้าอื่น ยิ่งหลังประกาศพระราชโองการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนน้อมรับด้วยแล้ว เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาก็อย่าไปทำให้มีปัญหา ลดทิฐิกันลงมาบ้าง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไป

Cr.thaipost

สำนักข่าววิหคนิวส์