สดร.ชวนชม ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2562 หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ห่างจากโลก 356,836 กิโลเมตร ในคืนมาฆบูชา 19 ก.พ.นี้
วันนี้ (11 ก.พ.2562) นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า คืนวันที่ 19 ก.พ.นี้ ตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร
หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.11 น. เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในคืนดังกล่าว
ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
สำหรับครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่มีกล้องโทรทรรศน์ยังสามารถใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจศึกษาดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้อีกด้วย
นายศุภฤกษ์ ระบุอีกว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร
ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงมากกว่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลกระทบอื่นใดต่อโลก นอกจากนี้ การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
“แม้ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือนแต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับดวงจันทร์เต็มดวงและใกล่้โลกที่สุดในรอบปี ครั้งต่อไป ตรงกับวันที่ 8 เม.ย.2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร ”
ทั้งนี้ สดร.จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ประชาชนที่สนใจร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ 4 แห่ง ได้แก่
1) เชียงใหม่ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
2) ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
3) นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
4) สงขลา ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา
Cr.thaipbs
สำนักข่าววิหคนิวส์