ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 7 มี.ค. เวลา 13.30 น. แล้วนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น. กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ทษช. “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
บีบีซีไทย ชวนผู้อ่านย้อนอดีตคดีที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร ในรอบ 12 ปี
คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ 2562
พรรคไทยรักษาชาติ ตั้งขึ้นเมื่อ 27 ก.ค. 2552 ในชื่อ พรรครัฐไทย โดยมีนาย เอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ และนาย ศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก ที่ประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553 มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจาก พรรครัฐไทย เป็น พรรคไทยรวมพลัง และเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคอุดมการณ์ของพรรค และนโยบายของพรรค วันที่ 7 พ.ย. 2561 ที่ประชุมใหญ่มีมติเลือก ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช และนายมิตติ ติยะไพรัช เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่
หลังการเปลี่ยนผู้บริหาร พรรคถูกมองว่าเป็นสาขาของพรรคเพื่อไทย เพราะมีอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งย้ายมาสังกัดและเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมถึงชื่อย่อ ทษช. ที่ถูกพูดถึงว่าอาจหมายถึง ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย
คดียุบพรรคสืบเนื่องจาก ทษช. เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็น นายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค ซึ่ง กกต. ได้พิจารณาคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบว่าการเสนอรายชื่อผู้สมัครนายกของพรรคดังกล่าวเข้าข่าย ผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ และที่ประชุม กกต. มีมติ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคต่อไป
มติดังกล่าวมีขึ้นหลังพิจารณาพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 ก.พ. 2562 และหนังสือการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค รวมถึงหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
โดย( 2) ระบุว่าเป็นกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่ช่วงบ่ายของวันที่ 14 ก.พ. ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมมีคำสั่งกำหนดขั้นตอนปฏิบัติหลังรับคำร้องไว้พิจารณา และกำหนดนัดลงมติในวันที่ 7 มี.ค. นี้ เวลา 15.00 น
คดียุบพรรคพลังประชาชน 2551
พรรคพลังประชาชน (พปช.) ก่อตั้งเมื่อ 9 พ.ย. 2541 มี พ.ต.ท. กานต์ เทียนแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักไทย สมาชิกจำนวนหนึ่งได้ย้ายมายัง พปช. ในปี 2550 โดย มีนายสมัคร สุนทรเวช รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อมาวันที่ 12 ก.ย. 2551 นายสมัครได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพร้อมยุติบทบาททางการเมือง หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดรายการโทรทัศน์ทำให้ขัดคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี โดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป และ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขาธิการพรรค
เมื่อ 26 ก.พ. 2551 กกต. มีมติด้วยเสียงข้างมาก 3 ใน 5 งดออกเสียง 1 เสียง ให้ใบแดงและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้า พปช. ส.ส. แบบสัดส่วน และประธานรัฐสภา เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่ จ. เชียงราย
สมัคร สุนทรเวช ผู้มีความจงรักภักดีสูง เข้ามาล้างข้อครหา “ไม่จงรักภักดี” ให้แก่ทักษิณ โดยเขากลายเป็นนายกฯ คนที่ 25 หลังนำพรรคพลังประชาชนคว้าชัยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2550
คดีดังกล่าว มีที่มาจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคชาติไทย นำหลักฐานเป็นวีซีดี กล่าวหาว่านายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ใน อ. แม่จัน จ. เชียงราย นำโดยนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ เดินทางไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และเข้าพักที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายยงยุทธขอให้กำนันช่วยเหลือตนและน้องสาว ตลอดจนนายอิทธิเดช ผู้สมัคร เขต 3 จากนั้นคนสนิทของนายยงยุทธได้มอบเงินให้กำนันคนละ 20,000 บาท
วันที่ 8 ก.ค. 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยว่ากรณีที่นายยงยุทธให้เงินกับกำนัน อ.แม่จัน ทั้ง 10 คน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ จึงพิพากษายืนตามมติของ กกต. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี และ กกต. เตรียมดำเนินการส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเสนอยุบ พปช. ต่อไป
สุดท้ายคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ให้ยุบพรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค จำนวน 37 คน
ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างถึงกรณีที่ศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าว่านายยงยุทธกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป. เลือกตั้ง มาตรา 53 และทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. เชียงราย มิได้เป็นไปโดยสุจริต ตามคำสั่งของศาลฎีกาที่ 5019/2551
พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 53 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใดหรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด
- ให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชนสมาคม มูลนิธิ วัด สถาบัน การศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด
- ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
- เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
- หลอกลวงบังคับขู่เข็นใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจ ให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าควรยุบ พปช. เนื่องจากนายยงยุทธ ทำความผิดตาม พ.ร.ป. เลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 และมาตรา 237 วรรคสอง ที่ระบุว่า หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นายยงยุทธ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เป็น ส.ส. หลายสมัย มีบทบาทในพรรคจนได้รับยกย่องเป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นประธานสภาผู้แทนราษฏร จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและสอดส่องดูแลให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนบริหารอยู่กระทำการเลือกตั้งโดยสุจริตเที่ยงธรรม แต่กลับเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง อันเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงมีเหตุอันสวมควรที่จะต้องยุบพรรคเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม และเพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดการกระทำซ้ำผิดขึ้นอีก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 บัญญัติไว้ว่า
บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญ อาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 237 บัญญัติไว้ว่า
ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้ การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตาม พ.ร.ป. นี้
ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้า พรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้ เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค
คดียุบพรรคไทยรักไทย 2550
พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2541 ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2544 ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี หลังครบวาระรัฐบาล 4 ปี ทรท. ได้ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง 2548 และชนะถล่มทลาย ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ทักษิณ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ก่อนจะถูกชุมนุมกดดันทางการเมืองและนำไปสู่การยุบสภาในเดือน ก.พ. 2549
พรรคฝ่ายค้านนำโดยประชาธิปัตย์เวลานั้น ประท้วงไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเรื่องการจัดคูหาเลือกตั้งที่ทำให้ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ และเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เกิดการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เสียก่อน
คดียุบ ทรท. มีจุดเริ่มต้นจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ร้องเรียนต่อ กกต. ว่า ทรท. ได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 % นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ต่อมา กกต. มีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง
มาตรา 66 ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
- กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
- กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในคำร้องระบุว่า พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึง 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน
กระทั่ง 30 พ.ค. 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และ มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยระบุว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
“การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคทั้งสองด้วย”
ในส่วนของคดีอาญาศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ว่า พล.อ. ธรรมรักษ์ นายชวการ หรือ กรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีต ผอ. การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย มีความผิด ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนนายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง สำนักงาน กกต. ให้จำคุก 5 ปี
ต่อมาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ และอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ชี้แจงว่ากรณีไม่ยื่นฎีกาในส่วนของ พล.อ. ธรรมรักษ์ เนื่องจากจำเลยที่ 3 และ 4 มาเบิกความต่อศาลว่ ที่จำเลยให้การในชั้น ป.ป.ช. ว่าได้รับการว่าจ้างจาก พล.อ. ธรรมรักษ์นั้น เป็นเพราะถูกข่มขู่และเป็นการให้คำให้การเท็จ อีกทั้งยังเบิกความในชั้นศาลตรงข้ามกับที่ให้การใน ป.ป.ช. ว่า พล.อ. ธรรมรักษ์ไม่ได้ว่าจ้างให้ลงสมัครเลือกตั้งแต่อย่างใด
เปรียบเทียบองค์คณะศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
Cr.BBC THAI
สำนักข่าววิหคนิวส์