อดีตรมว.คลังชี้ “ไม่มีของฟรี ในเวทีการเมือง” ระบุพรรคการเมืองไม่ค่อยแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับแนวทางหารายได้ แต่นโยบายที่หาเสียงกลับใช้งบประมาณมหาศาล
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ไม่มีของฟรี ในเวทีการเมือง”
ข่าวเรื่องบัตรคนจน
‘นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. เตรียมเสนอรัฐบาลขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เข้ากองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สำหรับใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน
เนื่องจากประเมินแล้ว จะมีงบประมาณเหลือใช้ในโครงการต่างๆผ่านบัตร ถึงช่วงเดือน เม.ย. เท่านั้น แต่ยังมีบางโครงการ ที่ต้องดูแลประชาชนไปจนถึงเดือน ก.ย. 2562 ทำให้งบประมาณไม่พอ ซึ่งขณะนี้มีการใช้งบผ่านบัตรคนจนเฉลี่ยเดือนละ 3-4 พันล้านบาท หรือ ปีละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท’
ถ้าดูรูปข้างล่าง จะเห็นว่าโครงการนี้ใช้เงินไปแล้ว ทะลุ 100,000 ล้านบาท แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือ ในการหาเสียง พปชร. ประกาศจะยกหนี้ให้ประชาชนอีกด้วย (ดูรูป)
เพื่อให้ข้อมูลเรื่องนี้ครบถ้วน ปรากฏว่าทาง ปชป. ได้เสนอนโยบายที่จะไม่ยกเลิกบัตรคนจน แต่จะ modify ให้รัดกุมมากขึ้น (ดูรูป)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประชาชนควรเข้าใจก็คือ ไม่มีของฟรี ในเวทีการเมือง
เงินที่ทุกพรรคเสนอนโยบายจ่ายแก่ประชาชนนั้น รัฐไม่สามารถใช้วิธีพิมพ์แบงก์ขึ้นมาได้แบบฟรีๆ
เงินที่ใช้จะต้องมาจากรายได้รัฐเท่านั้น และหากรัฐมีรายได้ไม่พอ ก็จะใช้วิธีกู้ยืม อันจะเป็นหนี้สาธารณะ กระทบถึงคนไทยทุกคน
ถามว่า วิธีที่รัฐจะหารายได้ให้พอ มีอย่างไร?
มี 3 วิธีการ
หนึ่ง ต้องรื้อใหญ่วิธีจัดการรัฐวิสาหกิจ โครงการใดที่ปัจจุบันเปิดให้นายทุนระดับชาติตักตวง เอาเงินของชาติเข้ากระเป๋าตนเองเกินกว่าที่เป็นธรรม ต้องเปลี่ยนเป็นทำให้เงินไปเข้ากระเป๋ารัฐวิสาหกิจมากขึ้น
แต่เนื่องจากหนทางนี้ จะกระทบกระเทือนนายทุนของพรรค จึงไม่แปลกใจที่พรรคการเมืองมักมองข้าม
สอง ต้องประหยัดงบประมาณใช้จ่ายด้านอื่น และเป้าหมายที่เด่นชัดที่สุด ก็คืองบประมาณของกองทัพ
แต่เนื่องจากจะกระเทือนไปถึงหัวใจของขุนศึก และยังอาจลามปามไปถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพพร้อมกันด้วย จึงไม่แปลกใจที่มีน้อยพรรคการเมืองแตะวิธีนี้
สาม ต้องเก็บภาษีเพิ่ม ไม่ว่าในรูปภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีธุรกิจบางอย่าง เช่น ตลาดทุน เพิ่มภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น
อย่างที่สามนี่แหละ ที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง
เพราะผู้ที่มีภาระต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ก็อาจจะไม่พอใจ ถ้าหากเขาคิดว่า มีการเอาเงินที่เขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ไปกระจายให้แก่คนจนแบบทิ้งน้ำ
แถมมีบางพรรคที่หาเสียงด้วยนโยบายลดอัตราภาษีอีกด้วย ยิ่งไปกันใหญ่
ทั้งนี้ ถึงแม้สังคมมีหน้าที่ต้องจัดกระบวนการ ให้คนรวยต้องช่วยคนจน แต่กระบวนการที่ดีนั้น ต้องเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายผู้ให้ ต้องมองเห็นได้ว่า มีการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายผู้รับ ต้องสามารถใช้เงินเพื่อช่วยให้ตัวเองตั้งหลักได้ ช่วยตัวเองได้ดีขึ้น
แต่น่าเสียดาย ที่พรรคการเมืองไม่ค่อยจะแสดงวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับแนวทางหารายได้
ทั้งแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจเอกชน สามารถมีช่องทางทำกินดีขึ้น และแนวทางที่รัฐบาลจะมีรายได้มากขึ้น
วันที่ 10 มีนาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2288714
Cr.เฟซบุ๊กThirachai Phuvanatnaranubala
สำนักข่าววิหคนิวส์