กองทัพซิมบับเวประกาศควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ยืนกรานว่าไม่ใช่การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ทว่าเป็นเพียงการเข้าปราบปรามกลุ่มอาชญากรรม โดยที่ประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ และเกรซ มูกาเบ ภริยา ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักอย่างปลอดภัย สหภาพแอฟริกา ( เอยู ) ออกแถลงการณ์ว่า สถานการณ์ทางการเมืองในซิมบับเว “ไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหาร” และเรียกร้องให้กองทัพซิมบับเวคืนอำนาจตามแนวทางประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
ด้านนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายในซิมบับเวหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และเปิดการเจรจากันโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างสันติ
แม้สถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่านายมูกาเบ วัย 93 ปี จะถูกบีบให้ลงจากอำนาจหลังจากครองเก้าอี้ผู้นำซิมบับเวมามานานถึง 37 ปีแล้วหรือไม่ แต่สื่อมวลชนต่างประเทศนำเสนอว่าการยึดอำนาจของทหารในครั้งนี้ว่า มีรากเหง้ามาจากการชิงอำนาจกันระหว่างนางเกรซ มูกาเบ กับนายเอ็มเมอร์สัน มนังกากวา อดีตรองประธานาธิบดีที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งไปหมาด ๆ เพื่อขึ้นเป็นทายาทสืบทอดอำนาจของนายมูกาเบ
บีบีซีไทยขอนำเสนอประวัติของผู้นำเหล็กแห่งซิมบับเว ผู้พาซิมบับเวเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางการเมืองและการล้มเหลวทางเศรษฐกิจอย่างสาหัส จนเงินเฟ้อพุ่งจนถึงสูงอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
จากวีรบุรุษสู่ทรราช?
สาธารณรัฐซิมบับเว (Republic of Zimbabwe) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาติดกับประเทศแอฟริกาใต้ เดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษชื่อว่า เซาธ์ โรดีเซีย เมืองหลวงคือ กรุงฮาราเรย์
โรเบิร์ต มูกาเบ เป็นลูกชายของช่างไม้ในชนบท แต่โชคดีได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยในแอฟริกาใต้ และมีโอกาสได้สอนหนังสืออยู่ในประเทศกานาอยู่พักหนึ่ง เขาสนใจเรื่องการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวผู้ปกครองประเทศกับประชาชนอย่างมาก เมื่อกลับมายังบ้านเกิดในปี 1960 เขาก็ได้เข้าไปช่วยก่อตั้งพรรคซิมบับเว แอฟริกัน เนชันแนล ยูเนี่ยน หรือ ซานู ซึ่งแยกตัวมาจากพรรคเดิม
- งานวันเกิดผู้นำซิมบับเวถูกวิจารณ์สนั่น ชี้ใช้เงินรัฐสิ้นเปลืองทั้งที่ประชาชนอดอยาก
- องค์การอนามัยโลกกลับลำ ไม่ตั้งมูกาเบเป็นทูตสันถวไมตรี
แต่ต่อมา ในปี 1964 เขาถูกจับในข้อหาพูดจาปลุกปั่นในที่สาธารณะ และถูกจำคุกไป 10 ปี เมื่อถูกปล่อยออกมาเป็นอิสระ ก็ตรงกับในช่วงสงครามกลางเมือง กลุ่มคนผิวดำซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลคนขาว มูกาเบเข้าร่วมกับแนวหน้าคนรักชาติแห่งซิมบับเวต่อต้านรัฐบาล การไกล่เกลี่ยที่ลอนดอนในปี 1979 ทำให้การสู้รบยุติลง นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1980 อันเป็นปีที่ซิมบับเวได้เอกราชด้วย พรรคของมูกาเบซึ่งเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ซานู พีเอฟ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เหนือพรรคคนผิวดำอื่น ๆ ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรี
มูกาเบหวังจะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐสภา เขาได้ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผิวดำมากมายอย่าง เช่น เพิ่มค่าจ้าง, ให้เข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ และแจกจ่ายอาหาร แต่เมื่อเขาปลดผู้นำชนกลุ่มน้อยออกจากรัฐบาล ก็ทำให้ความยุ่งยากตามมา มีการปะทะกันระหว่างชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของซิมบับเวทรุดลงอย่างรวดเร็ว พวกผิวขาวซึ่งเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจประเทศต่างพากันอพยพออกไป เพราะกังวลต่อความปลอดภัยของตนเอง
อำนาจของมูกาเบเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และในที่สุดเขาก็กลายเป็นประธานาธิบดีผู้มีอำนาจเต็มคนแรกของประเทศในปี 1987 และใน 1990 เขาได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ความไม่สงบก็เริ่มแพร่กระจายไปทั้งประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เงินเฟ้อสูงลิ่ว รวมทั้งการตัดสินใจของเขาที่ส่งกำลังทหารเข้าช่วยประธานาธิบดีลอรองค์ คาบิลา ในคองโกเพื่อสู้กับฝ่ายกบฏ นำไปสู่การประท้วงหลายครั้ง และในครั้งร้ายแรงที่สุดก็คือเมื่อมูกาเบประกาศขึ้นเงินเดือนในตัวเองและคณะรัฐมนตรี
ปี 2002 เขาได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง แต่การเลือกตั้งก็เต็มไปด้วยความรุนแรงและการโกง เขาให้สภาออกกฎหมายเพื่อยึดไร่และทรัพย์สินของพวกผิวชาวเข้ามา ซึ่งรัฐบาลเองไม่มีความรู้ความสามารถในผลิตสินค้าเกษตรแทนคนเหล่านั้นได้ ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดน้อยลงไปอย่างมาก รวมทั้งความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การขาดแคลนอาหารอย่างหนัก
เมื่อความนิยมในตัวมูกาเบตกลง เขาก็ยิ่งใช้ความรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เสรีภาพของสื่อถูกควบคุม นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกคุกคาม ทำร้ายในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก ซิมบับเวที่อุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคนี้กลับกลายเป็นยากจนขาดแคลนทุกอย่าง ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์รายงานว่าในเดือนพฤศจิกายนปี 2008 เงินเฟ้อของซิมบับเวนั้นแตะระดับ 89.7 หมื่นล้านล้านล้านเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองจากคู่แข่ง มูกาเบก็ยังได้รับเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2013 ตอนนั้นเขามีอายุ 89 ปีแล้ว หลายคนเริ่มก็คิดว่าเขาจะอยู่ไปในอีกนานเท่าไร และใครจะมาสืบทอดอำนาจแทนเขา เขาหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามนี้เลย สุขภาพที่อ่อนแอลงของเขานำไปสู่การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจกันในพรรคซานู พีเอฟ ในบรรดาคนเหล่านั้นก็มี เกรซ มูกาเบ ภรรยาของเขาที่เพิ่งหันมาสนใจเล่นการเมือง หลังจากกำจัดคู่แข่งอย่างนายมนังกากวาออกไปได้ เธอก็อยู่ในตำแหน่งทายาทสืบทอดแต่เพียงผู้เดียวของสามี ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งครั้งนี้
Cr.BBCไทย
สำนักข่าววิหคนิวส์