นาย ประจักษ์ มะวงษา นักจัดรายการวิทยุและพิธีกรชื่อดังได้โพสแฉเหตุสร้างรัฐสภาไม่เสร็จล่าช้ากว่ากำหนด
จากซ่องเขียวไข่กาสู่สัปปายะสภาสถาน
ร้อนระอุส่งท้ายปี 2562 การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ สัปปายะสภาสถาน หลังเลขาธิการสภาผู้แทนฯนายสรศักดิ์ เพียรเวช ลงนามต่อสัญญาก่อสร้างออกไปอีก 382 วัน
ถือเป็นการต่อสัญญาครั้งที่ 4 จากเดิมครบกำหนด 15 ธันวาคม 2562 เท่ากับยืดเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ท่ามกลางการต่อต้านของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะต่อสัญญามา 3 ครั้งแล้ว และการอนุญาตให้ต่อสัญญาเช่นนี้ เท่ากับจะไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาอะไรเลย ทั้งที่ผ่านมา รัฐสภาทั้งส.ว.และส.ส.ต้องไปเช่าสถานที่ข้างนอกเพื่อจัดประชุมของ 2 สภาหลายครั้ง ยังไม่รับรวมประชุมรัฐสภาร่วมกัน โดยเฉพาะที่ทีโอที ต้องใช้งบไม่รู้เท่าไหร่
หนึ่งในจำนวนที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อเวลาก่อสร้างออกไป และยังทำหนังสือคัดค้านไปถึงประธานสภาผู้แทนฯให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงสาเหตุที่ล่าช้า คือนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กรุงเทพฯหลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ยังมีคู่หูคู่คิดอีกหนึ่งคนคือนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.กรุงเทพฯและอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มักยื่นให้มีการตรวจสอบโครงการจัดซื้อต่างๆของสภาฯเสมอๆ
อย่างเช่น นาฬิกาเรือนละ 75,000 บาท การซื้อและติดตั้งแอร์ ไมค์ติดตั้งในห้องประชุมสภาใหม่และห้องกรรมาธิการตัวละ 1.4 แสนบาท หรือที่เรียกกันว่าไมค์ทองคำ และทีวีขนาด 65 นิ้ว ราคาเครื่องละ 1.7 แสนบาท
เหตุผลการคัดค้านต่อสัญญาของนายวิลาศ คือไม่มีเหตุผลใหม่ นอกจากอ้างเหตุผลเก่าคือการส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้ชนะการประมูลล่าช้า ซึ่งนายวิลาศระบุว่า ได้มีการลงนามในการต่อสัญญาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ระบุว่าส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว รวมทั้งที่ดินที่ตั้งโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งมีจัดงานส่งมอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559
ขณะที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนฯ พยายามชี้แจงเหตุผลที่ต้องต่อสัญญาครั้งที่ 4 ว่า 1)เพราะสภาฯได้รับงบประมาณไอซีที หรืองบด้านเทคโนโลยี่และการสื่อสารช้า และ 2)ผู้รับเหมาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานล่าช้า ดังนั้น หากไม่ต่อสัญญาออกไป รัฐสภาอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
เท่ากับแอ่นอกรับผิดชอบว่า ล่าช้าจากทางสภาเอง ไม่เกี่ยวกับบ.ซิโน-ไทย
นัวเนียไปมาชนิดที่ใครไปศึกษาหรือติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจังอาจต้องงุนงงสงสัยเพิ่มเติมอีก เพราะโครงการก่อสร้างสัปปายะสภาสถานนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะโครงการไม่เหมือนใคร มีการตั้งคณะกรรมการเข้าไปเกี่ยวข้องหลายชุด รวมทั้งคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้าง แต่กลับคาราคาซังยืดเยื้อมาตลอด
การยื่นฟ้องนายวิลาศ ของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ด้วยเหตุทำให้บริษัทเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง ก่อให้เกิดเสียงเชียร์วงในพอสมควร เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นศาล สามารถขออำนาจศาลร้องขอข้อมูลหรือพยานหลักฐานสำหรับต่อสู้พิสูจน์ความจริงให้กระจ่างได้ในท้ายที่สุด จะได้ไม่ต้องวิพากษ์ หรืออ้างเหตุผลเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่อีก
ขณะที่ทางรัฐสภาเอง หากการตั้งกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่เป็นจริงได้ ก็จะช่วยลบข้อสงสัยและครหาต่างๆมากมาย ทั้งในส่วนการบริหารจัดการภายในสภาฯเอง ตลอดจนบุคคล คณะกรรมการชุดต่างๆ หรือบริษัทเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือรับงาน
แม้แต่บ.ซิโน-ไทย ซึ่งยังสลัดภาพออกไปจากพรรคภูมิใจไทย หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ยังไม่ได้เสียที แม้”เสี่ยหนู”จะยืนยันไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือมีส่วนในการบริหารซิโน-ไทย นานแล้ว
การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ถือเป็นหนึ่งในโครงการอาถรรพณ์ เพราะยืดเยื้อคาราคาซังมานาน นับตั้งแต่จะหาทำเลที่ตั้งใหม่ ตั้งแต่ปี 2536 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
สถานที่ตั้งก็เลือกไปเปลี่ยนมาหลายครั้งหลายสถานที่ จากราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง เป็นสถานีกลางบางซื่อ เป็นที่ดินราชพัสดุย่านเกียกกาย เป็นสนามบินดอนเมือง เป็นบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แม้แต่อาคารสูงพักอาศัยในโครงการเมืองทองธานี ก็เคยมีการพูดถึง
ก่อนที่จะกำหนดชัดเจนเป็นที่ดินราชพัสดุ ย่ายเกียกกาย ในปี 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ
แต่กระนั้น การก่อสร้างก็มีปัญหาอุปสรรคมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องส่งมอบที่ดินในโครงการ ซึ่งไม่สามารถส่งมอบพร้อมกันได้ทั้งหมด ต้องใช้วิถีทยอยส่งมอบ นำไปสู่ความล่าช้าจากข้ออ้างของผุ้ชนะประมูลก่อสร้าง ต่อสัญญาขยายเวลาก่อสร้างรวม 4 ครั้งแล้ว
ยังไม่นับปัญหาและความวุ่นวายอื่นๆอีกมากมาย ในการประชุมส.ส. ทั้งประะฝีปากท้าทาย การก่อกำเนิดงูเห่า การลักลอบนำสารตั้งต้นทำระเบิดเข้าไป การจูบประกบปากดูดดื่มเย้ยสภา และอื่นๆ
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงอาถรรพณ์ที่ตั้ง ซึ่งเดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงฝิ่นและสถานนางโลมที่รู้จักกันดีของคนสมัยนั้นว่า ซ่องเขียวไข่กา ภายในเต็มไปด้วยซ่องและโสเภณีเป็นจำนวนมาก ยังเป็นย่านโรคระบาดจากเพศสัมพันธ์ที่เลื่องชื่อ
รัฐบาลกลับไปเลือกสร้างรัฐสภาทับลงไปในพื้นที่ดังกล่าว จึงนำไปสู่ปัญหาและเรื่องวุ่นวายตามมาไม่รู้จบ
เท็จจริงอย่างไร ขึ้นอยู่กับความเชื่อและการใช้วิจารณญาณครับ
ประจักษ์ มะวงศ์สา
26 ธันวาคม 2562
สำนักข่าววิหคนิวส์