“ระวี รุ่งเรือง”หลุดเก้าอี้ส.ว. ศาลรธน. ชี้ขาดคุณสมบัติเหตุเคยต้องโทษถูกไล่ออกจากราชการ เข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง-ขณะเจ้าตัวน้อมรับ แต่พ้อศาลไม่พิจารณากรณีถูกเพิ่มโทษไล่ออกหลังมีพ.ร.บ.ล้างมลทินปี 39 ทั้งที่กฏหมายห้ามมีการเพิ่มโทษหลังรับโทษแล้วบางส่วน
วันที่ 10 มิ.ย.63 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของนายระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา อดีตนายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทยและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111 ( 4 ) ประกอบมาตรา 108 ข จากกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม( 1) มาตรา 98 (8) และมาตรา 82 วรรคสี่ เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
โดยกรณีดังกล่าวกกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังปรากฏหลักฐานว่า ก่อนนายระวีได้รับการสรรหา และแต่งตั้งเป็น ส.ว. เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วร้ายอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งกรมการปกครอง ที่ 689/2539 ลงวันที่ 15 ส.ค. 2539 เนื่องจากขณะเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดน ถือเป็นพฤติกรรมในทางทุจริต และศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.778/2558 ว่า การเรียกและรับเงินจากผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับราชการเพื่อเป็นค่าวิ่งเต้นให้ได้เข้ารับราชการนั้น เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและความร้ายแรงอยู่ที่ระดับเดียวกับกรณีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ นายระวีจึงเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ว. แม้ในเวลาต่อมานายระวีจะได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ก็มีความหมายเพียงว่า นายระวี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ความประพฤติหรือการกระทำของผู้ถูกร้องที่เป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัยถูกลบล้างไปด้วยแต่อย่างใด ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2539 ที่ได้วางหลักไว้ในกรณีนี้ จึงถือว่ามีเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ว.ของนายระวี สิ้นสุดลง
ด้านนายระวี กล่าวหลังรับคำฟังคำวินิจฉัย ว่า ยอมรับและเคารพคำวินิจฉัยที่ออกมา แต่ก็ยังมีประเด็นคาใจว่า ตนเคยถูกลงโทษทางวินัยครั้งแรกลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นในปี 36 ต่อมาปี 39 เดือนมิ.ย. มีพ.ร.บ.ล้างมลทิน ออกมา แต่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของกรมการปกครอง กระทรวงไทยกลับมีมติในเดือนส.ค. 39 ให้เพิ่มโทษตนเป็นไล่ออกจากราชการ ทั้งที่ตามพ.ร.บ.ล้างมลทิน ปี39 กำหนดห้ามมีการเพิ่มโทษบุคคลที่ได้รับโทษทางวินัยไปบางส่วนแล้ว ตนจึงเห็นว่าเมื่อพ.ร.บ.ล้างมลทินปี 39 มีการกำหนดห้ามเพิ่มโทษแล้ว ตนก็ต้องไม่เป็นผู้ถูกโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ในคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่ได้พิจารณาก็ไม่เป็นไร พร้อมเคารพ