เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สัญญาณดีมาก ! ทุกฝ่ายพร้อมปรองดอง เหมือน 66/23

#สัญญาณดีมาก ! ทุกฝ่ายพร้อมปรองดอง เหมือน 66/23

29 June 2020
856   0

29 มิ.ย.63  – เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา “การผนึกทุกภาคส่วน ร่วมวางอนาคตประเทศไทย” โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า 28 ปีจากเหตุการณ์พฤษภา 35 บ้านเมืองเกิดสงบเพราะมีการพูดคุยกันระหว่างญาติผู้สูญเสียและ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลั่นวาจาว่าจะปรองดองได้ต้องเคารพกฎหมายก่อน นับเป็นความไม่เข้าใจกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างยิ่ง เพราะการที่บ้านเมืองจะสงบได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเมตตาธรรม เพราะถ้าพูดถึงเรื่องกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องเข้าคุกด้วย เพราะยึดอำนาจมา

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า แสดงความเห็นถึงการสร้างความปรองดองว่า ตอนนี้เราต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน เปิดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ประชาชน ส่วนการเมืองหลังโควิด-19 นักศึกษาจะออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งหากยังไม่เปิดพื้นที่การเมือง การเมืองไทยก็จะยิ่งต่างไปจากเดิมอย่างมาก แต่วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันนี้ที่มีนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองจำนวนมาก ส่วนการปรองดอง ประเทศไทยมีแผนจำนวนมากแล้ว ควรเริ่มปฏิบัติเสียที นับแต่ปี 2549 มาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการนำแผนเกี่ยวกับการปรองดองมาใช้เลย มีเพียงการจัดทำแผนจากคณะกรรมการต่างๆหลายคณะ  วันนี้ถ้าไม่มีการปรองดอง อาจเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ เพราะนับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา จะเห็นว่าทุกๆกว่า 20 ปี จะเกิดเหตุการณ์ใหญ่เสมอมา

นายภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มศว.กล่าวว่า  นับแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน เราไม่เคยขาดกรรมการปรองดอง โดยการแก้ไขปัญหาจะต้องพูดคุยกัน แต่กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็มีความจำเป็น โดยต้องประกอบด้วย 1.การค้นหาความจริง 2.เยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับความเสียหาย 3.อำนวยความยุติธรรม ซึ่งควรใช้กฎหมายปกติก่อน ค่อยใช้กฎหมายพิเศษ เช่น นิรโทษกรรม 4.การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แก้ไขต้นตอของปัญหา ป้องกันความขัดแย้งในอนาคต สำหรับแนวปฏิบัติในการปรองดองที่คณะกรรมการปรองดองที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานนั้น ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้าใจร่วมในความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริง 3.อำนวยความยุติธรรม 4.เยียวยาฟื้นฟู 5.สร้างสภาวะเอื้อการอยู่ร่วมกัน 6.เรียนรู้จากอดีต ทั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลต้องมีเจตจำนงปรองดองอย่างแท้จริง โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และการปรองดองต้องเป็นอิสระ ไม่มีเกณฑ์บังคับ และการแก้ไขปัญหาปรองดองอย่างแท้จริง ต้องมีกติกาที่ถูกต้องเป็นธรรม

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. ย้ำว่าการปรองดองต้องไม่นิรโทษกรรมเหมาเข่ง สุดซอย เพราะถ้าสุดซอยเมื่อใด ก็พังพินาศเมื่อนั้น เหมือนตอนที่พวกตนไปชุมนุมต่อต้านรัฐบาลหนึ่งที่เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยอยู่นานหลายเดือน ทั้งนี้ ส่วนตัวได้รับอนิสงส์จากนโยบาย 66/23 จึงเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความสำคัญต่อบ้านเมือง เพราะเราจะปล่อยให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งต่อไปไม่ได้ ขณะนี้ผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งต่างติดคุก การปรองดอง ถึงเวลาของการปฏิบัติจริง ไม่ใช่เวลาของการศึกษาอีกแล้ว เพราะนี่คือ new normal ปรองดอง คือการนิรโทษกรรม สมานฉันท์ โดยต้องเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาโดยเร็ว ก่อนวันที่ 28 ก.ค.2563 ยิ่งดี

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การจะนิรโทษกรรมครั้งนี้ ต้องไม่ใช่เพื่อแกนนำ แต่ต้องเป็นไปเพื่อสลายมวลชน เหมือนกับสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นการปรองดองของมวลชนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ปรองดองกับแกนนำ เพื่อที่มวลชนจะได้เลิกทะเลาะกัน เพราะแกนนำหลายฝ่ายนั้น รับโทษจากการต้องคดีไม่น้อยไปกว่ากันมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็น พ.ร.บ. เพราะอนาคตถ้าความเกลียดชังยังดำรงอยู่ ก็จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นับแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เรามีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มีการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผู้นำต้องนำหลักอภัยและเมตตาเข้ามาใช้ แต่การสร้างความปรองดอง จะไม่ใช่แค่การนิรโทษกรรม แต่ต้องพูดคุยกัน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากการบาดเจ็บ ล้มตาย พร้อมกับการค้นหาความจริงและมีบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา นอกจากนี้ยังต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่สอดคล้องกับกระบวนการประชาธิปไตย โดยการนิรโทษกรรมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีทุจริตและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยืนยันว่าไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แต่ต้องเดินทางกระบวนการประชาธิปไตย

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า เหตุผลที่ประเทศไทยกระจายรายได้แย่ที่สุดและมีความเหลื่อมล้ำมาก เพราะเราขาดหลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับใช้คนทั้งประเทศ ความไม่ยุติธรรมก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ปรองดอง เป็นผลต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเร่งให้เกิดความปรองดอง เข้าใจซึ่งกันและกัน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง  กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 นับว่าแสนสาหัส ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะแสดงอาการอย่างหนักในไตรมาสที่ 3 จึงต้องเตรียมตั้งรับให้ดี แต่การทำงานของรัฐบาลปัจจุบันนั้น มีปัญหา เพราะแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังเป็นแบบโบราณคือเศรษฐศาสตร์น้ำตก รัฐบาลทำเพียงการเยียวยาและฟื้นฟู จึงเสนอแนะ 2 ลด 1 เพิ่ม คือ ลดหนี้ SME ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพิ่มโอกาสให้ SME และรื้ออำนาจผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจ

นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ปี 2553  กล่าวว่า การปรองดองควรเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะบริบทสังคมในตอนนี้เปลี่ยนไปจากอดีตมาก หากเสนอสภาไปโดยไม่ฟังความเห็นรอบด้าน เชื่อว่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน สำหรับการนิรโทษกรรม หากยกโทษเจ้าหน้าที่รัฐ คงเป็นไปได้ยาก เพราะบางครั้งเจ้าหน้ารัฐผู้รับคำสั่งนั้น ทำเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ขอเสนอว่า ควรทำประชาพิจารณ์ในการนิรโทษกรรมด้วย.