เดลินิวส์ – เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ศาลอาญาพระโขนง ถ.สรรพาวุธ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 คดีหมายเลขดำ 5952/2559 ที่พนักงานอัยการพระโขนง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปิยรัฐ หรือโตโต้ จงเทพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ และอดีตนายกสมาคมเพื่อเพื่อน, นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และ นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานทำลายเอกสาร และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 358 ฐานทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59, 60 (9)
กรณีเมื่อวันที่ 7ส.ค. 2559 อันเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายปิยรัฐเดินทางไปยังคูหาลงคะแนนเสียงที่เขตบางนาและฉีกบัตรลงคะแนน พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับการลงประชามติที่ปราศจากความชอบธรรม ภายใต้การใช้อำนาจควบคุมการแสดงออกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนายทรงธรรม กับ นายจิรวัฒน์ เป็นผู้ถ่ายคลิปวิดีโอการฉีกบัตรดังกล่าว
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 พิพากษาลงโทษนายปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ฐานทำลายบัตรออกเสียง และทำให้เสียทรัพย์ โดยเป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 ทุกข้อกล่าวหา
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 พิพากษาแก้เป็นนายปิยรัฐ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก ส่วนนายจิรวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาถึงการฉีกบัตรประชามติ กระทำขณะยังไม่ทำเครื่องหมายลงคะแนนนั้น ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ บัญญัติโทษทำลายบัตรให้ชำรุดเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แค่เพียงทำลายก็ถือเป็นความผิดแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสามทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายหรือไม่ โจทก์มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเบิกความสอดคล้องกัน ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ ตำรวจเห็นจำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพ จึงเชิญจำเลยที่ 2-3 ออกไปจากหน่วย จากนั้นจำเลยที่ 1 รับบัตรแล้วเดินอ้อมคูหา ก่อนหยุดที่หน้าหีบบัตร และตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนฉีกบัตร และขยำทิ้งลงพื้น โดยมีจำเลยที่ 2-3 บันทึกคลิปเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กจำเลยที่ 2-3 พบว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมรู้เห็นด้วย ที่จำเลยที่ 2-3 นำสืบว่าไม่รู้เห็น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายฯ ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยสุจริตตามระบอบประชาธิปไตย ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้น สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรอง ใช้ได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และไม่ขัดกฎหมาย การฉีกบัตรเป็นความผิดตามกฎหมาย หาอ้างได้ไม่
ส่วนการขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น พวกจำเลยทำต่อหน้าสาธารณะและเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก เป็นการโน้มน้าวจูงใจให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการลงโทษแล้ว ไม่มีเหตุให้ลงโทษเบาลงอีก พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางมาให้กำลังใจ.