ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #จ่อจับแกนนำ! เพิ่ม 28 คน หลังเจตนาชัดฝ่าฝืนอำนาจศาล

#จ่อจับแกนนำ! เพิ่ม 28 คน หลังเจตนาชัดฝ่าฝืนอำนาจศาล

16 August 2020
607   0

 
 “เพนกวิน” รอดหวิว ศาลให้ประกันตัว กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา   ขณะที่เจ้าตัวยังแรงไม่เลิก อ้างถูกตำรวจหน่วย 904 ตามประกบ ถูกจับเพราะวิจารณ์โจรอันธพาล แต่การถูกจับครั้งนี้ต้องไม่สูญเปล่า คนต้องกล้าพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ทีมธรรมศาสตร์เรายืนยันขยายเพดานแล้ว ไม่มีวันที่จะลดเพดานลง เผยหมายจับ 15 แกนนำ จับแล้ว 3 เหลืออีก 12  อีก 16 คนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายฯ
    เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล นำกำลังตำรวจ 400 นาย จากหลายหน่วยหลายพื้นที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล ปิดประตูทางเข้า-ออกหมายเลข 8 และหมายเลข 9 ที่หน้าศาลอาญา ก่อนสน.สำราญราษฎร์จะคุมตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำม็อบเยาวชนปลดแอก ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ รวม 7 ข้อหามาฝากขัง     กระทั่งเวลา 08.30 น. พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ คุมตัวนายพริษฐ์มาถึง โดยใช้เส้นทางบริเวณด้านหลังศาลแพ่งเข้าไปยังห้องเวรชี้ ศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันเข้ม มีรถนำขบวนและปิดขบวน เมื่อผ่านเข้าไปในพื้นที่ศาลอาญา ตำรวจศาลปิดประตูทันที      ต่อมาเวลา 13.00 น. ศาลได้อ่านคำสั่งคำร้องขอฝากขังดังกล่าวให้พนักงานสอบสวน นายพริษฐ์ และทนายความฟัง โดยมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 ได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน     คดีนี้พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งจับกุมผู้ต้องหาได้ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ จ. 1172/2563 ลงวันที่ 5 ส.ค.2563 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เวลา 06.30 น. และนำตัวผู้ต้องหามาให้พนักงานสอบสวนถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2563 เวลา 09.40 น. โดยผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว     และในวันนี้พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหามาศาลภายในกำหนด 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับและถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคสาม และอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากพนักงานสอบสวนจะต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ซึ่งแม้จะได้ความจากพยานผู้ร้องทั้งสองปากตอบทนายผู้ต้องหาถามค้านว่า มีการออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้พร้อมกันกับนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก และพยานหลักฐานบางส่วนในคดีนี้ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันกับในคดีของนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ก็ตาม     แต่พยานผู้ร้องก็ได้เบิกความยืนยันว่าพยานหลักฐานที่จะสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนี้เป็นคนละสำนวนกันกับในคดีของนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ และยังต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมจากคดีดังกล่าวอีก เมื่อเพิ่งจับผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ในภายหลังนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ จึงถือว่าพนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้ “เพนกวิน”ได้ประกันตัว     ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น เห็นว่าคดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ต้องหาได้ตามหมายจับของศาลอาญา ซึ่งมีข้อหาที่หนักที่สุดเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 10 ปี และคดีอัตราโทษดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลได้หลายครั้ง ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ขอฝากขังผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นครั้งแรก และมีเหตุจำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามที่กล่าวอ้างข้างต้น กรณีจึงมีเหตุจำเป็นในการสอบสวนต่อไป     ในส่วนข้อคัดค้านที่ว่าไม่มีความจำเป็นต้องขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนนั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องของขั้นตอนการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุคัดค้านการฝากขังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อคัดค้านอื่นๆ ของผู้ต้องหานั้นเป็นข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาที่สามารถนำไปใช้ในชั้นพิจารณา หากถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ     นอกจากนี้ ศาลได้แจ้งสิทธิการขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบแล้วว่าผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัว หรือขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันที หรือสามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ     ทั้งนี้ นายพริษฐ์ได้เขียนประกาศว่า “ตอนนี้ศาลอนุมัติฝากขังผมแล้ว และต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการประกันตัว ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเงื่อนไขการชุมนุมหรือห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ ผมขอแสดงจุดยืนว่า ผมขอดำเนินการอารยะขัดขืน ผมไม่ขอประกันตัว ถ้าศาลจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ เช่นที่ว่าผมยินดีเข้าเรือนจำดีกว่ายอมประกันตัวแบบมีเงื่อนไขภายใต้กระบวนการโจร”     จากนั้นเวลา 14.00 น. หลังจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายพริษฐ์ ผู้ต้องหา มีผู้ขอประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายพริษฐ์ ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์ระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว มีประกันในวงเงิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวและปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว      นายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์นอกบริเวณศาล ภายหลังได้รับการประกันตัวว่า ขอขอบคุณพี่น้องที่มาให้กำลังใจ เดิมทีตนตั้งใจจะไม่ประกันตัว แต่หลังจากหารือกับครอบครัวและทนายแล้ว เห็นว่าวันพรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์ ถ้าตนเข้าเรือนจำไป จะมีปัญหาความปลอดภัยไม่สามารถเยี่ยมได้ มีข่าวตำรวจหน่วย 904 ติดตามประกบตนโดยเฉพาะ จึงไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย และตนต้องออกมานำการชุมนุมใหญ่ต่อ ทางศาลตั้งเงื่อนไขห้ามทำผิดข้อกล่าวหาเดิม ทางทนายได้หารือกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาบอกจะไปชุมนุมก็ได้ พรุ่งนี้เจอกัน ยืนยัน 10 ข้อเสนอ     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้าน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจคดีการเมืองจะมีหมายค้นไปที่บ้านพักทำไม ตนถามตำรวจบอกแสวงหาอุปกรณ์ในการทำผิดกฎหมาย ค้นหาป้ายผ้า กระดาษ ปากกาเหรอ เป็นเรื่องข่มขู่และใช้อำนาจคุกคามข่มเหงประชาชน เหมือน 3 วันที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้หลับนอน ตนล้มป่วยสุขภาพไม่ดี เพราะตำรวจบุกไปที่บ้านที่หอพักทุกวันทุกคืน คิดว่านี่เป็นเครื่องสะท้อนความวิปริตความป่วยไข้ของสังคมนี้ของรัฐบาลนี้ สาเหตุที่ตนถูกจับ เมื่อครั้งนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก โดนคุมตัวตนก็มาที่นี่ มีหมายจับคดีเดียวกันยืนกลางศาลไม่ยักจะโดนจับ ไปตั้งหลายที่ไม่โดนจับ มาโดนจับเมื่อวาน เชื่อว่าเป็นผลอันเนื่องจากวันที่ 10 ส.ค. ที่เราเสนอดันเพดานปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อกลัวนักก็จะอ่านให้ฟังอีกรอบ     จากนั้นนายพริษฐ์ได้อ่านเอกสารแถลงการณ์กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุมที่มีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ย้ำอีกครั้ง     ต่อมา ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหลายคนที่มีหมายจับคดีเดียวกันจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายพริษฐ์กล่าวว่า เข้าใจเพื่อนหลายคนมีหมายจับ ยังไม่ถูกจับ มีโอกาสจะโดนอีก ตนมีทีมงาน support ส่วนตัวไม่เสียใจที่ถูกจับ คิดว่าตั้งแต่เคลื่อนไหวมาสักวันคงต้องมี การถูกจับครั้งนี้ต้องไม่สูญเปล่า คนต้องกล้าพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ทีมธรรมศาสตร์เรายืนยันขยายเพดานแล้ว ไม่มีวันที่จะลดเพดานลง     ถามถึงความมั่นใจต่อการชุมนุมใหญ่วันที่ 16 ส.ค. นายพริษฐ์กล่าวว่า ทีมธรรมศาสตร์พร้อมสนับสนุนทีมคณะประชาชนปลดแอกไปช่วยในงาน ปริมาณน่าจะล้นราชดำเนิน

   รับรองว่าทีมธรรมศาสตร์ไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง จะทำแบบเบิ้มๆ     เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากอธิบายเพิ่มเติมกรณีนายพริษฐ์ระบุศัตรูของเรามีคนเดียว นายพริษฐ์ตอบว่า ดังที่ตนแถลง คุณคิดว่าทำไมถึงถูกจับ เพราะเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์โจรอันธพาล ก็เลยใช้กฎหมายโจรจับพวกเราเข้าสู่กระบวนการโจร ดังนั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของโจรที่มีอำนาจนอกเหนือกฎหมาย ประเทศนี้โจรไหนใหญ่ที่สุด     เมื่อถามถึงการออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ ทำให้ถูกโจมตีว่าเป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นายพริษฐ์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเราชัดเจนอยู่แล้ว เป็นการสะกิดเตือนด้วยความหวังดีว่าสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถาบันราษฎรได้ ทุกอย่างทั้ง 10 ข้อ เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข     ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การเรียกร้องเรื่องนี้อาจทำลายข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ นายพริษฐ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้ โดยคนใกล้ชิดกันตัวออกไปเพื่อเดินทางกลับ ระบุว่านายพริษฐ์ป่วย     อย่างไรก็ดี ศาลอาญาออกเอกสารข่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2563 เวลากลางวัน ขณะที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ นำตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก มายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกได้ลงข้อความในเฟซบุ๊ก แฟนเพจ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ เชิญชวนกลุ่มบุคคลให้มาร่วมชุมนุมกันที่ศาลอาญา เจอละเมิดศาลอีกคดี     จากนั้นนายพริษฐ์ได้กล่าวปราศรัยเสียงดังต่อหน้าผู้ชุมนุมและประชาชน โดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียง และยังใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพแล้วลงโฆษณา เพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นๆ เดินทางมาชุมนุมในบริเวณศาล เพื่อขัดขวางรบกวนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล รวมถึงถ่ายทอดสดภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุมในบริเวณศาล (Live) ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลได้เข้าระงับเหตุ โดยการแจ้งข้อกำหนดศาลให้ทราบและห้ามปราม แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ฟัง และยังคงดำเนินการดังกล่าวต่อไป การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เจ้าหน้าที่ศาลจึงทำบันทึกและรายงานคำกล่าวหาต่อศาล ขอให้ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล     โดยนัดไต่สวนคำกล่าวหาดังกล่าวในวันที่ 11 ก.ย. เวลา 09.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดและปล่อยตัวชั่วคราวไปโดยไม่มีประกัน     นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมใหญ่ กับการที่ตำรวจยื่นเพิกขอถอนประกันตัวว่า การที่ห้ามตนกระทำผิดตามข้อกล่าวหา ซึ่งข้อกล่าวหานั้นศาลยังไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นความผิดหรือไม่ การออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพของตนภายใต้รัฐธรรมนูญ และการขึ้นเวทีปราศรัยเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย     ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ให้สัมภาษณ์ว่า ยังมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน สำหรับเรื่องนี้ถ้าใครทราบ หรือติดต่อขอมอบตัวเราก็ยินดี ส่วนเรื่องการชุมนุม เชื่อว่าผู้ชุมนุมคงเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพราะนอกจากจะต้องดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมแล้ว ก็จะต้องดูแลประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน     พล.ต.ท.ภัคพงศ์เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจค้นบ้านของนายพริษฐ์ ช่วงเช้าวันเดียวกันว่า เบื้องต้นพนักงานสอบสวนพบพยานหลักฐานบางส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อคดี แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวน          ผบช.น.กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีผู้ต้องหาอยู่ในข่ายถูกดำเนินคดีอีกหลายคน ทั้งที่ถูกออกหมายจับแล้ว และยังไม่ถูกออกหมายจับ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด     มีรายงานข่าวแจ้งว่า หมายจับผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด 15 คน ที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแล้วนั้น ประกอบด้วย 1.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 2.น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 3.น.ส.ลัลนา สุริโย 4.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนาแยม 5.นายภาณุพงศ์ จาดนอก 6.นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี 7.นายอานนท์ นำภา 8.นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ 9.นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ 10.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 11.น.ส.จิรฐิตา ธรรมรักษ์ 12.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ 13.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก 14.ธนายุทธ ณ อยุธยา 15.นายบารมี ชัยรัตน์ จ่อออกหมายอีก 16 คน          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเบื้องต้นได้จับกุมดำเนินคดีแล้ว 3 รายคือ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เหลืออีก 12 คน อยู่ระหว่างดำเนินการติดตามเพื่อจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และอีก 16 คนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายต่อไป     นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การจับกุมในวันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปราบปรามสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบโดยรัฐ แทนที่จะให้ความคุ้มครองกับผู้ชุมนุมอย่างสงบ ตำรวจกลับใช้กฎหมายเผด็จการเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปิดปากผู้แสดงความเห็นหรือวิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ        แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมด และให้ปล่อยตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยทันที รวมทั้งนักกิจกรรมอีกคู่หนึ่งที่ถูกจับเมื่อวันศุกร์ที่แล้วพร้อมกับผู้ประท้วงคนอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเพียงแต่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรายังกระตุ้นทางการให้หาช่องทางสื่อสารในทางเลือก หรือริเริ่มการเจรจากับผู้ชุมนุม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ       “ความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนนับแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่ง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจอย่างยิ่ง พื้นที่ของการเคลื่อนไหวและการแสดงออกอย่างสงบ จะยิ่งหดตัวลงมากขึ้น หากประชาคมระหว่างประเทศไม่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยทันที” นางปิยนุชกล่าว     น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรและการชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษา โดยเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันทุกฝ่ายควรใช้เหตุผลในการนำเสนอ หลีกเลี่ยงการยุยั่ว ปลุกปั่น อันจะเป็นเหตุในการสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่าย ก่อให้การปะทะและเผชิญหน้ากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยไม่อยากเห็น     “พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยคิดว่าอยู่เหนือการเมืองแต่อย่างใด และพยายามหารือทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาทางออก จึงได้ดำริให้มีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสะท้อนมุมมอง ความต้องการ ว่าอยากเห็นอนาคตของตัวเองและประเทศชาติเดินไปในทิศทางใด จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ แก้ไขปัญหาประเทศ” น.ส.ไตรศุลีระบุ     น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์คาดหวังให้สภาผู้แทนราษฎรได้ใช้กลไกที่มีอยู่แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามหลักของกระบวนการประชาธิปไตย ขณะที่รัฐบาลก็เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้นิ่งเฉยกับข้อเรียกร้องของผู้แทนและภาคส่วนต่างๆ ดังนั้น จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อหาทางออกจากสถานการณ์นี้ เพราะว่าปัญหาทางการเมืองนั้นควรถกเถียงและแก้ไขกันในสภา เพราะสภาคือตัวแทนของประชาชน     “ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งการ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และย้ำว่านายกฯ ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.