ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #มติแบนยาว ! พาราคอต-คลอร์ไพริฟอส ตัวก่อมะเร็ง

#มติแบนยาว ! พาราคอต-คลอร์ไพริฟอส ตัวก่อมะเร็ง

29 September 2020
875   0

     เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3/2563 โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาทบทวนการมติยกเลิกประกาศการเลิกใช้พาราควอตและคลอร์ไฟริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยการประชุมครั้งนี้มีกรรมการฯเข้าร่วมทั้งหมด 24 ราย จากทั้งหมด 27 ราย โดยที่ประชุมมีไม่เห็นด้วยจำนวน 20 ต่อ 4 เสียง ให้คงมติการยกเลิกใช้สารดังกล่าวต่อไป เนื่องจากได้มีประกาศให้ยกเลิกใช้สารเหล่านี้ไปตั้งแต่ 1 มิ.ย.2563

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมได้นำข้อเสนอจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่ขอให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย และให้ทบทวนมติที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต รวมทั้งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางลดผลกระทบ เข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา หลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 20 ต่อ 4 ให้ยังคงมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 คงเดิม ที่ได้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติ 23 พ.ค.2561 ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการพิจารณาได้มีเหตุผลรองรับอยู่แล้วถึงความอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกับหลายประเทศก็มีการแบนสารดังกล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่า ส่วนที่มีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองเพื่อพิจารณาการยกเลิกประกาศการใช้พาราควอตไว้นั้น เห็นควรมอบหมายกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข นำข้อมูลและข้อสังเกตจากคณะกรรมการไปพิจารณาดำเนินการและรายงานคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป ส่วนการหาสารทดแทนนั้น กรมวิชาการเกษตรจะไปเร่งดำเนินการประกาศหาสารที่จะนำมาทดแทนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารที่มาทดแทนโดยตรง แต่ใช้เป็นสารทางเลือกที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากมีผู้มาร้องเรียนให้ทบทวนอีกในลักษณะเป็นประเด็นเดียวกันนี้ก็จะไม่มีการนำมาสู่การพิจารณาอีกถือว่าได้เป็นมติไปแล้ว

ด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารที่จะมาทดแทน 2 สารที่ถูกแบนขณะนี้ยังไม่มี และยอมรับว่าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่จะหาวิธีการในการควบคุมศัตรูพืชและลดต้นทุนการผลิต เช่น รวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อใช้เครื่องจักร และรวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการทำตลาดเกษตรปลอดสารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เป็นต้น

(ที่มาภาพ : แนวหน้า)