5 ก.พ.64 – ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ผู้แทนกระทรวงพัฒนาความมั่นมนุษย์, ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายลีโอนาร์ด แมนคูโซ ผู้ช่วยทูตประจำประเทศไทย สำนักงานผู้ช่วยทูตสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา แถลงผลทลายขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ
พล.ต.ท.กรไชย ผบช.สอท.เผยว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระทีสำคัญของรัฐบาล การรับตั้งครรภ์ หรือการอุ้มบุญ เป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีการกระทำของนายหน้าผู้เป็นธุระจัดหาหญิงที่มารับจ้างตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการจูงใจหญิงด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานอย่างอื่นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ดำเนินการการป้องกันปราบปรามการกระทำความความผิดทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
บช.สอท. ได้รับการประสานงานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรณีพบการใช้ช่องทางทางสื่อสังคมออนไลน์ ประกาศเชิญชวนรับสมัครหญิงที่ต้องการหารายได้จากการรับจ้างตั้งครรภ์แทน จึงได้ประสานความร่วมมือกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, สถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมสหวิชาชีพ
จากสืบสวนเบื้องต้นพบว่ามีเด็กทารก อายุประมาณ 4 เดือน เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยภาวะชักเกร็ง และมีเลือดออกในสมอง แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง จากการสอบสวนปากคำมารดาของทารกดังกล่าว ได้ความว่าตนได้รับจ้างตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (การอุ้มบุญ) และรอการส่งมอบเด็กให้ผู้ว่าจ้าง โดยจะมีนายหน้าชาวต่างชาติเป็นผู้ว่าจ้างและออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด โดยมารดาผู้รับตั้งครรภ์แทนจะต้องเดินทางไปที่ประเทศกัมพูชาเพื่อไปฝังตัวอ่อนทารก จากนั้นจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อถึงกำหนดคลอดทารก ผู้ว่าจ้างจะสั่งให้มารดาผู้รับตั้งครรภ์เดินทางไปยังประเทศที่สามเพื่อทำการคลอดทารกยังสถานพยาบาลที่ผู้ว่าจ้าง และทำการส่งมอบทารกในคราวเดียวกัน
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มารดาที่รับตั้งครรภ์แทนไม่สามารถเดินทางออกไปคลอดนอกประเทศได้ จึงจำเป็นที่จะต้องคลอดในสถานพยาบาลในประเทศไทยแทน และทำการส่งมอบทารกให้นายจ้าง จากนั้นนายจ้างชาวต่างชาติจะมอบค่าตอบแทนให้ 500,000 บาท ถือเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการรับจ้างตั้งครรภ์แทน
เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อมูลดังกล่าวและติดตามกลุ่มชาวต่างชาติที่ว่าจ้างหญิงไทยที่รับตั้งครรภ์คนดังกล่าว จนทราบว่า กลุ่มชาวต่างชาติที่เป็นนายหน้าจัดหาเด็กทารกนั้นได้เปิด สถานที่รับเลี้ยงเด็ก ชื่อว่า “ GS กิ๊ก บริการศูนย์แม่บ้าน ” มีการรับเลี้ยงดูแลเด็กทารกจริง และมีเด็กทารกอยู่ในความดูแล จำนวน 2 คน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นทารกที่เกิดจาก “ ขบวนการอุ้มบุญ ” ลักษณะเดียวกันกับมารดาผู้รับจ้างตั้งครรภ์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจพบก่อนหน้านี้จริง
จากนั้นได้ทำการสืบสวนจนทราบว่ามีกลุ่มหญิงไทยที่ได้รับจ้างตั้งครรภ์แทนและเดินออกนอกประเทศเพื่อฝังตัวอ่อนในลักษณะเดียวกันอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง จนทราบว่า มีกลุ่มชาวต่างชาติผู้เป็นนายหน้าว่าจ้างให้หญิงไทยตั้งครรภ์แทน จำนวน 3 ราย กลุ่มหญิงไทยที่รับจ้างตั้งครรภ์แทนมี จำนวน 4 ราย
จากการปฏิบัติการเข้าตรวจค้นทั้ง 9 จุด ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าของ บก.สอท.4 บช.สอท. สามารถช่วยเหลือเหยื่อเป็นเด็กได้ จำนวน 2 ราย อายุประมาณ 6 เดือน และอายุประมาณ 8 เดือน ตรวจพบผู้ดูแลเหยื่อเป็นบุคคลสัญชาติฟิลิปปินส์ จำนวน 2 ราย สถานที่ตรวจพบเปิดเป็น บริษัททำความสะอาดบังหน้า โดยใช้ชื่อหญิงชาวจีน พบผู้หญิงที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่อุ้มบุญ จำนวน 3 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน.ตรวจพบผลแล็บจากสถาบันเอกชน ยืนยันว่า DNA ของพ่อเด็กเป็นคนสัญชาติจีน
“ขบวนการนี้ทำมากว่า 10 ปี หญิงคนไทยที่รับจ้างอุ้มบุญคลอดออกมา 3 วันมีคนมาอุ้มเด็กไป ไม่รู้สึกอะไรเหรอ ขอประณามจิตใจที่ต่ำทราม ผมจะพยายามขจัดไม่ให้คนไทยเป็นเหยื่อของคนต่างชาติ จริยธรรมคุณธรรมต้องสูงกว่า”
พล.ต.ท.กรไชย เผยต่อว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 24 “ ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท “ มาตรา 27 “ กระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้าโดยเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการตั้งครรภ์แทน ” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท รวมถึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 อีกด้วย