หลังจากกรณีที่จีน สั่งประกาศห้ามการเผยแพร่ข่าวของ BBC World News ในประเทศ จนกลายเป็นประเด็นร้อนข้ามโลกในทันที ล่าสุดรัฐบาลจีนออกมาเปิดเผยสาเหตุสำคัญถึงมาตรการเด็ดขาดในครั้งนี้โดยระบุว่า
…
สำนักงานกำกับวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (NRTA) ประกาศคำสั่งดังกล่าวในจีนมีผล 12 ก.พ. เนื่องจากมีเนื้อหาที่ละเมิดกฎระเบียบของจีนอย่างรุนแรง รวมถึงกฎระเบียบที่ระบุให้มีการรายงานข่าวที่ซื่อสัตย์ ถูกต้อง และเที่ยงธรรม
.
NRTA ยังกล่าวโทษว่า เนื้อหาของ BBC World News มีผลบ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีน และความเป็นเอกภาพของชาติพันธุ์ต่าง ๆ แถลงการณ์ของ NRTA ระบุว่า ด้วยเหตุที่ BBC World News ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ของอังกฤษ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับสถานีโทรทัศน์ต่างชาติที่ออกอากาศในจีน
.
ดังนั้น การยื่นขอออกอากาศต่อไปอีกปีจึงถูกปฏิเสธ รายการของ BBC World News จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศภายในประเทศจีน และ NRTA ก็จะไม่รับคำขอให้บริการสำหรับปี 2565 ด้วย
.
การตัดสินใจของจีนในครั้งนี้ ถูกประณามโดยนาย โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ที่ออกมาแถลงทันทีหลังจากที่ช่องสถานีของบีบีซีกลายเป็น “จอดำ” ในจีน ว่า มาตรการล่าสุดนี้รังแต่จะก่อความเสียหายแก่ชื่อเสียงของจีนในสายตาชาวโลกและเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อสารมวลชนที่ไม่อาจยอมรับได้ ขณะที่บีบีซีเอง ให้ความเห็นว่า รู้สึก “ผิดหวัง” ต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของจีน
.
แม้แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง ยังออกมาให้ความเห็นเชิงประณามการตัดสินใจของจีนว่า เป็นเรื่องน่าหนักใจที่จีนกำหนดข้อจำกัดต่อสื่อมวลชนและแฟลตฟอร์มต่างๆ ไม่ให้ทำงานอย่างอิสระเสรี
.
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้ มาตรการ “ลงโทษ” สถานีข่าวของอังกฤษขั้นเด็ดขาดครั้งนี้มีที่มาที่ไป ซึ่ง ชนวนเหตุ เกิดจากรายงานข่าวของบีบีซีเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในจีนที่ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นระบบ รายงานข่าวดังกล่าวสะท้อนภาพเหล่าผู้หญิงที่อยู่ในค่ายกักกันของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ และชาวมุสลิมอื่นๆ ในมณฑลซินเจียง
.
ซึ่งพวกเธอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความโหดร้ายในค่ายกักกัน ซึ่งหลังจากที่เนื้อหาของข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป จีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในซินเจียง โดยจีนระบุว่า รายงานข่าวของบีบีซีคือ “ข่าวเท็จ” (fake news) ที่ “ปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง”
.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาแถลงชัดเจนว่า รัฐบาลปักกิ่งพบความเคลื่อนไหวของ “แคมเปญปลุกกระแสต่อต้านจีน” ที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผ่านการนำเสนอข่าวสารของสื่อหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บีบีซี หรือในชื่อเต็มว่า บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งอังกฤษ
.
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนปฏิเสธเนื้อหาที่หญิงชาวอุยกูร์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี โดยระบุว่า สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็น “ข้อมูลเท็จ” พร้อมกันนี้ การแถลงของนายหวัง เหวินปิน ยังมีการให้ข้อมูลหักล้างเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของสตรีที่รายงานข่าวระบุว่า ชื่อนางซุมรัต ดาวุต
.
โดยเธอให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า ถูกกักขังในสถานที่ที่เรียกว่า “ค่ายปรับทัศนคติ” แต่ทางการจีนระบุว่า ในความเป็นจริง เธอไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ หรือการศึกษา ในสถานที่แห่งนี้
.
สตรีดังกล่าวยังอ้างการ “ถูกบังคับให้ทำหมัน” แต่ทางการจีนระบุว่า เมื่อตรวจสอบประวัติย้อนหลัง พบว่าเธอคลอดบุตรคนที่ 3 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อปี 2556 โดยเธอลงนามในเอกสาร ขอให้แพทย์ผ่าคลอดและทำหมันให้ด้วย ทางโรงพยาบาลจึงจัดการให้ตามคำร้องของคนไข้
.
ในข้อกล่าวอ้างที่ว่า บิดาของเธอถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวนหลายครั้ง และเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ทางการระบุว่า ในความเป็นจริง บิดาอาศัยอยู่กับเธอมาตลอด ไม่เคยมีประวัติถูกจับกุมและสอบปากคำ และต่อมาก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อปีที่แล้ว
.
โดยจีนอ้างว่า พี่ชายทั้งสองคนของเธอ เป็นพยานยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ทางการนำมาหักล้างนั้น “เป็นความจริง” จึงสรุปได้ว่า นางซุมรัต ดาวุต คือ เครื่องมือของ “กองกำลังต่อต้านจีน” ผ่านการสร้างสถานการณ์ในซินเจียง
.
ถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ จีนจึงมีความชอบธรรมที่จะสั่งยุติการแพร่ภาพรายการของ BBC World News ในประเทศจีน
.
สื่อต่างประเทศยังรายงานว่า การตัดสินใจแบนรายการของสถานีโทรทัศน์บีบีซีในจีนครั้งนี้ ยังเป็นการตอบโต้ของจีนต่อการที่รัฐบาลอังกฤษได้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทไชน่า โกลบอล เทเลวิชัน เน็ตเวิร์ก ( ซีจีทีเอ็น ) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของจีน ไม่ให้ออกอากาศแพร่ภาพรายการในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
.
โดยเป็นการเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากที่มีการตรวจสอบพบว่า บริษัท สตาร์ ไชน่า มีเดีย ลิมิตเต็ด หรือ SCML ซึ่งเป็นเจ้าของใบอนุญาตการออกอากาศรายการของซีจีทีเอ็นนั้น ถือครองใบอนุญาตโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการแต่อย่างใด