วันนี้ (6 เม.ย. 64) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม ‘Resolution’ จัดกิจกรรมร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางสู่ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์’ โดยการจุดลงทะเบียนให้ผู้มารวมงานได้ลงชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา โดยกำหนดไว้จำนวน 50,000 รายชื่อ พร้อมการเสวนาพูดคุยเกี่ยวประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจากตัวแทนคนต่างๆ ในเวลา 15.00 น. ได้แก่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แนวร่วมกลุ่มราษฎร และน.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ อดีตผู้ร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การรณรงค์ครั้งนี้ทำในนามกลุ่ม Resolution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ iLaw เป็นการรณรงค์เพื่อเข้าชื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 คือการใช้สิทธิรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คนขึ้นไป ในการเข้าชื่อเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
นายปิยบุตร กล่าวว่าแนวทางที่มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรก คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ทำได้ด้วยการให้ประชาชนลงประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยปราศจากข้อจำกัด โดยเป็นการประชามติภายใต้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน
ส่วนช่องทางที่สองคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง สสร. แล้วทำใหม่ทั้งฉบับ แต่ปรากฎว่า ที่ผ่านมามีการใช้วิธีนี้ แต่ก็ตกไป เพราะเกิดจากการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะต้องมีการทำประชามติก่อนหรือไม่จึงจะแก้ได้
ช่องทางที่สาม คือการแก้ไขในรายมาตรา ที่มีการพูดถึงในรัฐสภาขณะนี้ เป็นการแก้ไขในประเด็นที่เล็กมากและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เช่น ระบบเลือกตั้ง หรือการแก้มาตรา 144 เปิดทางให้ ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณ จึงเป็นแนวทางที่ไม่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆเลย
จึงเป็นที่มาที่กลุ่ม Resolution ริเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในมาตราที่เป็นประเด็นใหญ่ๆ ภายใต้ชื่อ “ขอคนละชื่อเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อยกเลิก ส.ว. เหลือเพียงสภาเดียว ปฏิรูปองค์กรอิสระ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และล้างมรดกคณะรัฐประหาร โดยจะรณรงค์ระยะเวลา 6 เดือนคาดหวังว่าจะมีประชาชนมาร่วมลงชื่อมากกว่าครั้งที่ผ่านมา และทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Con Lab) กล่าวว่า จุดประสงค์ในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยุติการใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ในการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย 4 แนวทางหลัก ประเด็นแรกคือการล้มวุฒิสภา เพราะเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. และมีอำนาจมากเกินไป มีอำนาจทั้งการเลือกนายกฯ แต่งตั้งองค์กรอิสระ อำนาจร่วมโหวตกฎหมายปฏิรูปประเทศ และอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องปรับระบบรัฐสภามาใช้ สภาเดียว ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน
ประเด็นที่สอง คือ การปฏิรูปที่มา อำนาจ และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลางและยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น วางขอบเขตอำนาจที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมและกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ โปร่งใสและเป็นธรรม
ประเด็นที่สาม คือการเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นเครื่องมือในการกำจัดขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามในอนาคตได้หากไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้กว่า 20 ปี
ประเด็นสุดท้ายคือการล้างมรดกคณะรัฐประหาร ยกเลิกมาตรา 279 ที่นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ดำเนินคดีเพื่อหวังว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
โดยหลังจากนี้จะมีการเดินสายรณรงค์และเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดได้ที่ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่