วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจหารือมาตรการทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 โดยผู้ร่วมหารือมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
.
รวมทั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก และทาบทามบริษัทเอกชนไทย และต่างประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการหารือว่า เป็นการพูดคุยมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยโครงการ “เราชนะ” จะดำเนินการต่อ และมาตรการที่จบไปแล้วจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะได้คำตอบเร็วๆ นี้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหางบประมาณสำหรับดำเนินแต่ละมาตรการ และจะพยายามจัดหางบประมาณให้เพียงพอในสถานการณ์ขณะนี้
.
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการระบาดในรอบนี้คาดว่าคลี่คลายใน 2 สัปดาห์ เพราะแต่ละหน่วยงานมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในรอบที่ผ่านมาแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน
.
ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และ สศช.เพื่อจัดทำมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจได้ในเดือน พ.ค.2564 และมีผลเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยชุดมาตรการจะมีทั้งมาตรการใหม่ และการต่ออายุมาตรการเดิม ประกอบด้วย
…
1. โครงการสนับสนุนให้ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่นำมาใช้เพราะปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 5 แสนล้านบาท และกระทรวงการคลังคิดมาตรการออกมาแล้ว โดยจะเริ่มใช้เดือน มิ.ย.นี้
2. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3
3. โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันเป็นมาตรการที่จะเดินหน้าต่อตามที่มีการชี้แจงไว้
…
นอกจากนี้ มาตรการอื่นในลักษณะการจ่ายเงินเยียวยาจะมีการพิจารณาต่ออายุ เช่น โครงการเราชนะสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โครงการเรารักกันสำหรับผู้ประกันตน ม.33 โดยได้หารือว่าสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์อาจต่ออายุออกเพื่อไม่ให้ประชาชนแย่งกันลงทะเบียน
.
ส่วนจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ และจะให้มากแค่ไหนเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังดูในรายละเอียด โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า การออกมาตรการออกมาพร้อมกันทำให้คนที่จะได้มาตรการมีหลายกลุ่มจะได้ช่วยกันใช้จ่ายให้เงินหมุนเวียน
.
“มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ 3 แสนล้านบาท นั้นยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยา และทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังพอที่จะทำได้ และเหลือเงินอยู่ แต่หากเกิดการระบาดครั้งต่อๆไปซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพราะมีความไม่แน่นอนตรงนั้นรัฐบาลก็ต้องเตรียมที่จะกู้เงินแล้วเพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเงินไว้ดูแลประชาชน แต่ ในขณะนี้ยังมีเงินเพียงพออยู่ โดยมาตรการจะได้ใช้ในเดือน มิ.ย. แต่ประชาชนจะทราบก่อนในเดือน พ.ค.นี้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
.
ส่วนมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลภาคธุรกิจ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจใช้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินได้ โดยถือเป็นมาตรการที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนอยู่แล้ว
——————————-