ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าได้โพสข้อความระบุว่า
กระแสเทรนด์แฮชแท็ก #ไม่เอานายกพระราชทาน ในทวิตเตอร์ล่าสุดสะท้อนถึงความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองและสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าพวกเขายึดมั่นหลักการมากกว่าตัวบุคคล ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป และได้คนที่พวกเขาชื่นชอบมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่เป็นไปตามครรลองของระบบแล้ว พวกเขาก็ไม่สนับสนุนอยู่ดี
.
นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงข้อเรียกร้องเรื่องระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือที่เรียกกันว่า Constitutional-Parliamentary Monarchy ด้วย เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการให้สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ คือ ประมุขของรัฐ และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แบบที่ประเทศอื่นๆ เป็นกัน กล่าวคือพระมหากษัตริย์ต้องมีสถานะเป็นกลางทางการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ เพื่อให้พระมหากษัตริย์มีสถานะเช่นนี้ได้ พระมหากษัตริย์จึงต้องไม่มีบทบาทในทางการเมือง ไม่แทรกแซงทางการเมือง การเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชนหรือผู้แทนประชาชน ซึ่งในระบบรัฐสภานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเท่านั้น
.
เรื่อง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” เป็นปมปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด เมื่อไรก็ตามที่มีวิกฤต ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะเกิดขึ้นเองหรือสมคบคิดสร้างขึ้นมา ก็จะมีกระแสเรียกร้อง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” ทุกครั้งไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
.
ในระยะหลัง เมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทีไร ก็จะมีข้อเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อยอมให้มี “นายกฯ คนกลาง” บ้าง “นายกฯ คนนอก” บ้าง โดยเฉพาะหากเกิดกรณีวิกฤตหรือทางตัน จะได้หยิบมาตรานี้มาใช้ โดยไม่ต้องขวยเขินว่าขัดรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
ตอนใช้รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีการเสนอให้ตีความมาตรา 7 เพื่อมี “นายกฯ พระราชทาน” ผ่าน “ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ตอนทำรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีข้อเสนอใน สสร. ตอนนั้นว่าต้องมีมาตราที่เปิดทางให้มีองค์กรอรหันต์มาแก้วิกฤตการเมือง แต่เรื่องนี้ตกไป
ต่อมาในช่วง กปปส. ชุมนุม ก็มีการอธิบายให้ระบบถึงทางตัน เพื่อนำไปสู่ “นายกฯ พระราชทาน”
.
พอมารัฐธรรมนูญ 2560 คราวนี้ไปกันใหญ่ พวกเขาคงทราบดีว่าในอนาคตถ้าหากต้องการเสนอ “นายกฯ พระราชทาน” กันอีก ก็จะถูกโต้แย้งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญบ้าง ขัดหลักการบ้าง อย่ากระนั้นเลย พวกเขาจึงบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญเสียเลย ในมาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้
.
นี่คือ การติดตั้ง “นายกฯ พระราชทาน” เข้าไปในรัฐธรรมนูญ
นี่คือ Constitutionalisation of Royal Prime Minister
.
ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้?
.
ถ้าเราลองอ่าน 272 วรรคสอง
“ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”
.
จะเห็นได้ว่า ต้องลงคะแนนกันถึงสามรอบ
.
รอบแรก กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อเสนอเรื่อง
รอบสอง สองในสามของสองสภา เพื่อมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชี
รอบสาม กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อมีมติเลือก “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรี
.
ลองคิดดูว่าจะมีปัจจัยใดที่ส่งผลบังคับให้ทั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ว. สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันที่มากขนาดนี้ถึงสามรอบ
.
ด้งนั้น ผมจึงยืนยันว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากช่องทางตามมาตรา 272 วรรคสอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามระบบแน่ๆ
.
ใครก็ตามที่ยืนยันว่า ไม่เอา “นายกฯ พระราชทาน” ก็ต้องยืนยันต่อไปด้วยว่า ไม่เอา “นายกฯ ตาม 272 วรรคสอง”
.