วันนี้ (13 พ.ย. 64) เวลา 10:00 น. กลุ่มราษฎร และเครือข่าย แถลงการณ์ต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และทิศทางในอนาคต ที่ The Connection Seminar Center แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยย้ำถึงจุดยืนคือ “พวกเราขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือมีเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพวกเราไม่อาจยอมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้”
แถลงการณ์แสดงถึงความกังวลของอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ “ศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นศาลที่มีหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำทั้งหลาย โดยมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตัวบทของกฎหมาย และไม่อาจใช้อำนาจเกินเลยไปกว่าขอบเขตที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้”
แถลงการณ์จำแนกสาระสำคัญของระบอบการปกครองออกเป็น
1. ส่วนของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันหมายถึงรูปแบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนผู้เป็นที่มาแห่งอำนาจของสถาบันทั้งปวงผู้มีศักดิ์ศรีสิทธิและเสรีภาพเสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งยังได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลมีอัตตานัติกำหนดทิศทางของรัฐด้วยตนเองเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน
2. ส่วนการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันหมายถึงการกำหนดให้ตำแหน่งประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์ซึ่งมีที่มาจากการสืบทอดทางสายโลหิตจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าโดยทรงสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศทรงมีพระราชอำนาจ แต่ในเชิงพิธีการภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
“พวกเราขอยืนยันด้วยความสัตย์จริงว่านับตั้งแต่การประกาศ 10 ข้อเรียกร้องจนถึง ณ วินาทีนี้ไม่มีซักเสี้ยวลมหายใจเลยที่เจตนา และข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อที่พวกเราได้ประกาศ จะเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สถิตย์แห่งอำนาจอธิปไตย หรือทำลายศักดิ์ศรีสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือปิดกั้นประชาชนจากการใช้อัตตานัติเพื่อกำหนดทิศทางของรัฐ หรือเปลี่ยนตำแหน่งประมุขให้เป็นอื่นจากพระมหากษัตริย์หรือการเปลี่ยนพระราชอำนาจให้เป็นอื่นไปจากอำนาจเชิงพิธีการ”
แถลงการณ์ยังกล่าวถึงกระบวนการวินิจฉัยของศาบรัฐธรรมนูญด้วยว่า “ในคำตัดสินของศาลพวกเราเห็นว่ามีข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดี และสนับสนุนคำวินิจฉัย โดยที่พวกเรามิได้มีโอกาสในการเสนอพยานหลักฐาน เพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ พวกเราไม่อาจทราบได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ข้อมูลดังกล่าวมาจากที่ใดและเมื่อใด แต่ที่พวกเราทราบอย่างแน่แท้คือแม้พวกเราจะได้ยื่นร้องขอต่อศาลให้มีการไต่สวนเพื่อแสดงพยานหลักฐานหักล้างหรือยืนยันข้อเท็จจริงที่ศาลมีอยู่ แต่ศาลกลับไม่เปิดโอกาสให้มีการไต่สวน โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงยุติการไต่สวน”
“การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 เป็นเหตุให้คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญพวกเราขอยืนยันว่าพวกเราไม่อาจฝืนปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้เพราะหากพวกเราปฏิบัติตามคำสั่งนี้ย่อมหมายความว่าพวกเราไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญอันตั้งตระหง่านเหนือศาลรัฐธรรมนูญและมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ”
แกนนำยังเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องต่อไปด้วยว่า “พวกเราขอยืนยันด้วยจิตอันเห็นประโยชน์แห่งมหาชนเป็นที่ตั้งว่าหนทางที่ดีที่สุดในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การใช้กลไกทางกฎหมายหรือความรุนแรงเพื่อเป็นเครื่องมือในการกดปราบคุกคามหรือการพยายามสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว แต่คือการพยายามร่วมมือกันจาก ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทุกความคิดทางการเมืองทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจากทุกองคาพยพของรัฐ ทั้งองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถดำเนินไปจนประสบผลสำเร็จสถาพรได้จริงอันจะเป็นการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเป็นเหตุแห่งความเจริญวิวัฒน์ของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับสถาบันประชาชนอย่างสง่างามตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”