ดร.สามารถ….ได้โพสตระบุข้อความไว้ว่า
หลายคนยังไม่รู้ว่าส้วมบนรถไฟมีทั้ง “ส้วมเปิด” และ “ส้วมปิด” แต่รถไฟไทยของเราเกือบทั้งหมดใช้ “ส้วมเปิด” มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้ “ส้วมปิด” ส้วมทั้ง 2 ระบบ เป็นอย่างไร? ที่สำคัญ “ส้วมเปิด” จะสร้างปัญหาให้กับสถานีกลางบางซื่อได้อย่างไร? ติดตามได้จากบทความนี้
สถานีกลางบางซื่อหรือศูนย์กลางระบบรางของไทย เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างทันสมัยและสวยงาม ช่วยยกระดับการขนส่งด้วยระบบรางของไทย มีพื้นที่ใช้สอยถึงเกือบ 3 แสนตารางเมตร ถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การให้รถไฟดีเซลวิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ จะทำให้เกิดปัญหา 2 ประการ ดังนี้
1. การใช้ส้วมบนรถไฟ
ส้วมบนรถไฟมี 2 ระบบ ประกอบด้วยส้วมเปิด และส้วมปิด
1.1 “ส้วมเปิด” ไม่ดีอย่างไร?
ส้วมเปิดเป็นส้วมที่ไม่มีถังเก็บอุจจาระและปัสสาวะ ทำให้สิ่งปฏิกูลเหล่านี้ถูกปล่อยเรี่ยราดตามทางรถไฟ ซึ่งจะถูกชำระชะล้างไปตามกาลเวลาด้วยสายฝน สายลม และแสงแดด เคยมีข่าวว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ใต้สะพานรถไฟได้รับความเดือดร้อนจากอุจจาระและปัสสาวะอย่างแสนสาหัส เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องเดินข้ามทางรถไฟถ้าไม่ระวังจะเหยียบกองอุจจาระได้
หากอุจจาระและปัสสาวะถูกปล่อยเรี่ยราดบนทางรถไฟบริเวณสถานี จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้โดยสาร และทำให้เกิดภาพอุจาดตา ไม่น่ามอง ไม่น่าใช้บริการรถไฟ ด้วยเหตุนี้ การรถไฟฯ จึงติดป้ายประกาศไว้ในห้องส้วมว่า “โปรดอย่าใช้ห้องสุขาเมื่อรถจอดอยู่ที่สถานี” แต่ก็ยังมีผู้โดยสารที่ไม่สามารถทนได้ จำเป็นต้องขับถ่ายในขณะที่รถไฟจอดที่สถานี บางคนเพิ่งปวดทันทีที่รถไฟวิ่งถึงสถานี บางคนติดพันกับการขับถ่ายก่อนถึงสถานี บางคนไม่มีสมาธิที่จะขับถ่ายในขณะรถไฟวิ่งซึ่งมีเสียงดังและสั่นสะเทือน หรือบางคนคิดพิเรนทร์ด้วยการ “ฝากรัก” ไว้ที่สถานี โดยเฉพาะสถานีที่มีความทันสมัย สวยงาม และใหญ่ที่สุดในอาเซียน อาจเป็นที่หมายปองได้
1.2 “ส้วมปิด” ดีอย่างไร?
ส้วมปิดเป็นส้วมที่มีถังเก็บอุจจาระและปัสสาวะเช่นเดียวกับส้วมบนเครื่องบิน ทำให้ไม่มีสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ถูกปล่อยเรี่ยราดตามทางรถไฟ ไม่เกิดภาพอุจาดตา ส่งผลให้สถานีและทางรถไฟสะอาด น่าใช้บริการ
ถึงเวลาแล้วที่การรถไฟฯ จะต้องเปลี่ยนส้วมเปิดเป็นส้วมปิดให้หมด โดยเฉพาะขบวนรถไฟที่วิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อ
2. รถไฟดีเซลปล่อยควันพิษ
รถไฟดีเซลจะวิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อที่ชั้นที่ 2 ส่วนด้านบนหรือชั้นที่ 3 จะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งเข้า-ออก ด้วยเหตุนี้ ชั้นที่ 2 ซึ่งรองรับรถไฟดีเซลจะไม่โปร่งโล่ง เนื่องจากมีพื้นของชั้นที่ 3 คลุมอยู่ ทำให้การระบายควันไอเสียจากรถไฟดีเซลทำได้ยาก การรถไฟฯ จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการติดตั้งท่อระบายอากาศตลอดความยาวของชานชาลา โดยจะดูดควันไอเสียไปปล่อยออกที่ปลายชานชาลาทั้งหัวและท้าย แต่จะมีควันไอเสียตกค้างอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้โดยสารหรือไม่? การรถไฟฯ ควรขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมควบคุมมลพิษให้มาตรวจสอบ
เมื่อดูลักษณะอาคารสถานีกลางบางซื่อ พบว่าเป็นอาคารที่เหมาะสำหรับรองรับรถไฟฟ้า ดังนั้น การรถไฟฯ จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนรถไฟที่วิ่งเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อทุกขบวนจากรถไฟดีเซลเป็นรถไฟฟ้า
3. ข้อเสนอแนะ
ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป การรถไฟฯ จะไม่ให้รถไฟทางไกลซึ่งเป็นรถไฟดีเซลเข้าสถานีหัวลำโพง แต่จะให้รับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางบางซื่อแทน ดังนั้น การรถไฟฯ จะต้องเร่งแก้ปัญหาการใช้ส้วม และปัญหาการระบายควันไอเสียโดยด่วน อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ด้อยค่าสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเลย
แม้ผมไม่ใช่คนของการรถไฟฯ หรือที่เรียกกันว่า “คนรถไฟ” แต่ก็รักรถไฟไทยไม่น้อยกว่าคนรถไฟครับ