วันนี้ (13 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถึงการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ว่า ปัจจุบันตนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่โดยจะนำเข้าสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา เพื่อจะนำเอาปัญหาต่างๆ มาสู่กระบวนการการแก้ปัญหา ซึ่งมติ ครม. ไม่สามารถที่จะให้ทำนั่นทำนี่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการทำประชาพิจารณ์ การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA และประเมินผลต่างๆ โดยต้องกลับมาทบทวนใหม่ทั้งหมด
“ดังนั้น จะต้องเป็นเคสตัวอย่างเคสหนึ่งในการทำอะไรต่างๆ ก็ตาม ที่ทำตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐบาล คือต้องการให้พรรคใต้ของเรามีรายได้ที่ดีขึ้นมีกิจการกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการที่ยังมีปัญหาอยู่ก็ต้องมาทบทวนใหม่ โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงอยากขอร้องกันว่าอย่าชุมนุมกันอีกเลย รัฐบาลก็รับมาพิจารณาให้แล้วและจะดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน แต่จะบอกว่าให้ยกเลิกเลย อย่างนี้มันไม่ได้มั้งเพราะมีกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวข้องอยู่ ทั้งในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ การทำ SEA การปรับพื้นที่สีเขียว สีม่วง ต่างๆ ซึ่งมีกฎหมาย และกระบวนการของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ครม.สั่งไม่ได้ ก็มีแต่เพียงว่าต้องกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ไปทำไมให้ถูกต้อง ตรงกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องของที่ดินจะถูกหรือไม่ถูก ใครเป็นเจ้าของ ก็ต้องไปตรวจสอบกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเอามาพันทั้งหมด ก็จะไม่สามารถแก้อะไรได้สักอัน ยืนยันว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เดินหน้าไปสู่ความต้องการของประชาชน ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปดู สิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่อยากให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายเท่านั้นเอง กระบวนการทำได้อยู่แล้ว ก็ขอให้เชื่อมั่นและผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ได้หยุดคิดมาเลยหลายวันที่ผ่านมา แต่ที่ยังไม่พูดเพราะต้องการให้คนของเราได้ไปเช็กและไปตรวจสอบ อย่างวานนี้ (11 ธ.ค.) ก็ได้ส่งรองสุพัฒนพงษ์ ไปพูดคุยกับแกนนำมาแล้ว ในชั้นต้นก็ได้ทำความเข้าใจกันดีขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือ การให้ข้อมูลข่าวสารต้องรวดเร็วและทั่วถึง วันนี้มีการตรวจสอบจากรายงานด้วยกัน ทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชน เจ้าพนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต่างๆ ก็ได้มีคำชี้แจงออกมาแล้ว และจะมีการหารือกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.)