คำประกาศเกียรติคุณ
นายอนันต์ คู่มณี
ในพิธีมอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปี ๒๕๖๔
—————————–
นายอนันต์ คู่มณี เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๑ ณ อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการศึกษาระดับประถม-มัธยมปลาย ณ โรงเรียนทวีธาภิเษก และเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และมีความจำเป็นในการดำรงชีพ จึงออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนสำเร็จการศึกษา
การได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
๑. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ ๑๐มิถุนายน ๒๕๓๘ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๐
๒. ประธานคลังปัญญาผู้สูงอายุ โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาญจนบุรี และนายกสมาคมชมรมผู้สูงอายุ สาขาจังหวัดกาญจนบุรี
๓. รางวัลผู้สูงอายุดีเด่น จังหวัดกาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จัดโดยสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย
๔. รางวัลโล่เกียรติยศสนับสนุนส่งเสริมตลาดกลาง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางแพ
๕. การส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร จัดตั้งสมาคมไม้ผล ไม้ประดับ และพืชพลังงาน และส่งเสริมแสดงสินค้าร่วมกับหน่วยงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๕
๖. การเป็นที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการแก้ไขปัญหาการปลูก การผลิตข้าวและการตลาดแก่ชาวนาในจังหวัดกาญจนบุรี โดยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยรังสิตในการจัดทำโครงการ “นวัตกรรมนาข้าว ชาวนาอัจฉริยะ” ปี พ.ศ. ๒๕๕๘-ปัจจุบัน
นายอนันต์ คู่มณี เริ่มทำงานในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ยุคแรกของการพัฒนาบ้านจัดสรรในประเทศไทย และต่อมาในปีประมาณ พ.ศ.๒๕๓๐ได้นำความรู้และประสบการณ์ธุรกิจบ้านจัดสรรดังกล่าว โดยจัดทำเป็นโครงการ “บ้านสวนเก้าแสน” ที่จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ ๕๐๐ ไร่ โดยกำหนดแนวคิดของการพัฒนาบ้านสวนในลักษณะสวนเกษตรผสมผสานกับที่อยู่อาศัย มีความเป็นอยู่ตามสภาพของบ้านไทยโบราณ มีไม้ผล และพืชพันธุ์ที่สามารถดำรงชีวิตและสร้างรายได้ มีความร่มรื่น สิ่งแวดล้อมดี ตามแนวทางของ “ชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” นับเป็นจุดเด่นของโครงการ ทำให้โครงการสวนเก้าแสน ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีการขยายโครงการดังกล่าวออกไปอีก ๖ จังหวัดใกล้เคียง
ในปี ๒๕๓๔ นายอนันต์ คู่มณี ได้มีโอกาสในการศึกษาและพัฒนาความรู้ ด้านการเกษตรในหลายมิติ โดยเฉพาะเกษตรแบบผสมผสาน อันเป็นภูมิปัญญาเดิมของเกษตรกรไทย จึงได้นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาที่ดินที่ได้จัดหามาในจังหวัดกาญจนบุรี โดยดำเนินการปลูกไม้ผลผสมผสานกับหลากหลายมิติในที่ดิน ๑๐๐ ไร่
การดำเนินการในสวนเกษตรดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกร และเป็นแบบเรียนรู้แก่เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี และได้รับการยอมรับในฐานะเกษตรกรผู้นำ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการช่วยเหลือเกษตรกรด้านความรู้และการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเกษตรของจังหวัดกาญจนบุรี
ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประเทศไทยประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรขาดทุนและมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก นายอนันต์ คู่มณี เป็นผู้เสนอแนวคิดในการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดกาญจนบุรี โดยการนำเสนอแนวคิดของการปลูกและผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดการกับการตลาดโดยการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และจัดจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งเรียกกันว่า “นวัตกรรมนาข้าว ชาวนาอัจฉริยะ” เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การพัฒนาความรู้ และการนำไปสู่การศึกษาและวิจัย จึงได้เสนอความคิดเห็นต่อมหาวิทยาลัยรังสิตในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการจัดตั้งโครงการอย่างบูรณาการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยดำเนินการในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยเริ่มจากการรวบรวมเกษตรสมาชิก จำนวน ๒๘ ราย พื้นที่ปลูกข้าว ๑๒๘ ไร่ ใช้กระบวนการผลิตข้าวในวิถีใหม่ และจัดตั้งโรงสีข้าวขนาดกลาง เพื่อดำเนินการผลิตข้าวสาร “ทิพย์อรุณ” ส่งขายในตลาด ส่งผลให้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวและการตลาดได้อย่างดียิ่ง ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรจากจังหวัดอื่นและผู้สนใจเป็นจำนวนมาก
นับตั้งแต่การก่อตั้งโครงการและการพัฒนาพื้นที่ ณ บ้านหนองทราย ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร ได้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์การศึกษาพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ นักศึกษา คณาจารย์ จะได้เรียนรู้ในการปฏิบัติ และดำเนินการวิจัย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร และผู้สนใจที่ได้มาเยี่ยม เป็นแบบอย่างในการพัฒนาการเกษตร และการจัดการผลผลิตสู่ตลาดได้อย่างดียิ่ง
ด้วยเกียรติคุณ ความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่น ในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และการดำเนินการในกระบวนการผลิตอย่างบูรณาการ สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง อันแสดงถึงวิสัยทัศน์และแนวคิดในความมุ่งมั่นของการพัฒนาการเกษตรให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามมิติของความสมดุลของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
จากผลงานดังที่กล่าวมาข้างต้น สภามหาวิทยาลัยรังสิต จึงมีมติเป็น เอกฉันท์ มอบปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร แก่ นายอนันต์ คู่มณี เพื่อเป็นเกียรติและเป็นการประกาศเกียรติคุณสืบไป