เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา หลังที่ประชุมได้พิจารณาและทาง กมธ.ตอบชี้แจงเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการลงมติเท่านั้น ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. อภิปรายว่า วันนี้มีประชาชน นิสิต นักศึกษา มาให้กำลังใจ ตนในฐานะ กมธ.ต้องขอขอบคุณและขอให้สมาชิกมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ว่า ส.ส.รุ่นที่ 25 ของเรานั้น ได้มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเรื่องการขุดคลองไทย จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุน เพราะเราศึกษาเพื่อส่งให้รัฐบาลนำข้อมูลไปศึกษาเชิงลึกและตัดสินใจในอนาคตต่อไป
โดยผลการลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ. 144 เสียง เห็นด้วย 121 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง ซึ่งถือว่ารายงานดังกล่าวต้องตกไป
ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นท้วงติงว่า ในการพิจารณารายงานของ กมธ. จากผลการลงมติรู้สึกตกใจ เพราะเกรงว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งการรายงานของ กมธ.มีการเขียนไว้ในข้อบังคับชัดเจนข้อที่ 104, 105 การที่ประธานถามสมาชิกว่าจะเห็นชอบกับรายงานหรือไม่ การถามแบบนี้มีประเด็นแน่นอน เพราะความเห็นต่างของสมาชิกมีมาก มติจึงออกมาไม่เห็นชอบ หากยึดบรรทัดฐานนี้ กมธ.ที่ได้ไปศึกษาตามญัตติที่ได้เสนอมาในสภา จะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย รวมทั้งทำให้สูญเสียงบประมาณและเวลา เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา เท่ากับว่าตกไปเลย ซึ่งในข้อบังคับไม่อนุญาตให้สภามีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เนื่องจากเป็นรายงานการศึกษา แต่สิ่งที่ข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจนว่าจะให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบหรือไม่ คือข้อสังเกตของ กมธ.ที่แนบท้ายรายงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ
“สภาเราไม่มีสิทธิที่จะชี้ว่าจะสร้างคลองไทย หรือไม่สร้างคลองไทย ไม่มีสิทธิที่จะไปชี้ว่าเรื่องของเทคโนโลยี 5จี จะเอาอย่างไร มันไม่ใช่แบบนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องไม่ก้าวล่วงฝ่ายบริหาร เขาจึงใช้เป็นข้อสังเกต ท่านต้องโหวตเฉพาะข้อสังเกตเท่านั้น ส่วนรายงานเมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว สามารถนำไปประกอบการพิจารณา รัฐบาลจะเอาไปใช้ก็ได้ ดังนั้น ขอฝากประธานช่วยพิจารณา เพราะหากเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เข้ามา หากทั้งสภาไม่เห็นด้วย ที่ศึกษามาก็เท่ากับเปล่าประโยชน์” นพ.ชลน่านกล่าว
นายศุภชัยชี้แจงว่า แนวทางปฏิบัติของสภา เมื่อมีการศึกษาของ กมธ. และนำผลการศึกษาเข้าสู่ที่ประชุม ตามแนวปฏิบัติที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ถือปฏิบัติมา ก็จะมีการถามมติ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นการถามว่าสมาชิกเห็นด้วยกับรายงานที่ กมธ.ศึกษามาหรือไม่ และหากไม่เห็นด้วยก็จะไม่โหวตข้อสังเกต ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันมา และหากผู้นำฝ่ายค้านติดใจก็สามารถนำไปปรึกษากันได้ แต่ตอนนี้ผ่านไปแล้ว และเข้าสู่ระเบียบวาระใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่นายพิเชษฐ์ ประท้วงด้วยว่า เมื่อได้สร้างมาตรฐานใหม่สภา วันนี้ (4 ก.พ.) ที่ต้องพิจารณารายงานของ กมธ. 20 ฉบับ หากฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ต้องโหวตทุกฉบับจะอยู่ได้หรือไม่
“ประธานอย่าออกห้องประชุมนะครับ เมื่อสภาไปไม่ได้ อย่าไป ผมไม่เห็นด้วยและคัดค้านที่ต้องโหวต และจะนับองค์ประชุมด้วย ผมอยากให้พิจารณาใหม่” นายพิเชษฐ์กล่าว
ทำให้นายศุภชัยชี้แจงว่า หากจะใช้สิทธิสามารถทำได้ แต่เหตุผลต้องโหวตเพราะการอภิปรายมีความเห็นหลากหลาย ที่ผ่านมาที่ไม่เคยโหวต เพราะการอภิปรายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงใช้ข้อบังคับ ข้อ 88 ไม่โหวต เพราะถือว่าสภาเห็นด้วย เมื่อมติที่ประชุมเป็นแบบนี้ก็ขอจบ และขอให้พิจารณาในระเบียบวาระต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการทำงานของ กมธ.คณะดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่สภาได้ลงมติเห็นด้วยกับญัตติที่ ส.ส.เสนอเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 ทั้ง 9 ญัตติ โดยผู้เสนอญัตติ จำนวน 5 ญัตติ เป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และใช้เวลาศึกษาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2563 ถึง 24 กรกฎาคม 2564 รวมเวลา 555 วัน ทั้งนี้ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ฐานะประธาน กมธ. ได้เสียชีวิตเมื่อ 26 ตุลาคม 2564 ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวประธาน กมธ.เป็นนายพิเชษฐ์